สถานที่ท่องเที่ยว

อำเภอเพ็ญ | เชิงวัฒนธรรม

วัดนิมิตโพธิญาณ  ตั้งอยู่ที่บ้านโนนยางพัฒนา หมู่ที่ 17 ตำบลเพ็ญ อำเภอเพ็ญ จังหวัคอุดรธานี บนเนื้อที่ 36 ไร่ 46 ตารางวา มีการก่อสร้างวัดประมาณ ปี พ.ศ. 2480 ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ บ้านโพนงาม หมู่ที่ 4 ปัจจุบันเป็นบ้านโนนยางพัฒนา หมู่ที่ 17 (แยกมาจากบ้านโพนงาม)  

เมื่อแรกบ้านโพนงาม หมู่ที่ 4 ตำบลเพ็ญ ชาวบ้านในสมัยนั้นได้ร่วมกันตั้งวัดไว้ด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านชื่อ "วัดบัวกกคู้" กาลต่อมามีชาวบ้านในหมู่บ้านล้มตายอย่างผิดปกติรวม 2 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่ 2 มีการล้มตายแบบผิดปกติมากกว่าครั้งที่ 1 ชาวบ้านจึงเชื่อว่าอาจเป็นเพราะมีการสร้างวัดไว้ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน จึงพร้อมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันย้ายวัดไปสร้างใหม่ไว้ที่ด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ชื่อว่า "วัดโพนทอง" วัดนี้เป็นวัดคู่บ้านโพนงามปรากฏมาราบจนปัจจุบัน ส่วนบริเวณวัดบัวกกคู้ สถานที่นั้นก็ถูกทิ้งร้างเรื่อยมา โดยปรากฎหลักฐานบริเวณที่มีการสร้างวัดซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "โนนหญ้าคา" อันเป็นบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านโพนงาม ในช่วงแรกจวบจนเมื่อประมาณก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มมีคณะสงฆ์สายวิปัสสนากรรมฐานได้ใช้เส้นทางผ่านาทางอำเภอเพ็ญ ผ่านสถานที่แห่งนี้เพื่อเดินธุดงค์จากทางอีส่านใต้เพื่อไปปฏิบัติธรรมที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย รวมถึงการธุดงค์ต่อไปยังประเทศลาวด้วย ได้ใช้สถานที่นี้สร้างวัดและปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นที่พักระหว่างการธุดงค์ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีต้นไม้หลายชนิดและร่มรื่นด้วยต้นไม่ใหญ่ เช่น ต้นยางนา ไม้พยุง ไม้เต็ง เป็นต้น ต่อมาวัดได้รกร้างไปอีกหลายปี จวบจนเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2510 จึงมีพระสงฆ์มาอยู่จำพรรษาต่อเนื่อง มีศาลาการเปรียญ กูฏิ และเสนาสนะที่ถาวร เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาจนปัจจุบัน และสันนิษฐานว่าบริเวณที่เป็นวัดนิมิตโพธิญาณนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัดบัวกกคู้ในอดีต แม้ปัจจุบันจะมีการสร้างถนนผ่านบริเวณที่ต้นยางใหญ่ขึ้นอยู่ทำให้แยกพื้นที่ออกเป็นส่วนหนึ่งก็ตาม
สำหรับรายนามพระภิกษุที่เคยมาจำพรรษาที่วัดและเจ้าอาวมาสตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ถึงปัจจุบัน  ประกอบด้วย หลวงปู่คำ  ปี พ.ศ.2510 , หลวงปู่ลาย ปี พ.ศ.2517-2525  , หลวงปู่เสือ ปี พ.ศ. 2525-2530  ,  หลวงปู่รวย ปี พ.ศ.2530-2533 และพระครูใบฎีกากฤษณ์ กิติญาโน (พระอาจารย์ตุ๋ย ) ปี พ.ศ.2536 – ปัจจุบัน

อำเภอเพ็ญ | เชิงวัฒนธรรม

พระธาตุนางเพ็ญ ตั้งอยู่ที่ บ้านเกาะแก้ว ม.7 ตำบลเพ็ญ อำเภอเพ็ญ
ประวัติย่อของพระนางเพ็ญ    
     เมืองเพ็ญนี้เป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่งพร้อมกับเมืองหนองคาย เมืองบาง เมืองภูเงิน (หนองบัวลำภู ในปัจจุบัน) เมืองหนองหาน เมืองประโค เมืองเวียงคุก เมืองเหล่านี้มีเจ้าปกครอง (สมัยขอมอพยพออกจากแดนไทยประมาณ 270 ปี) เมืองเพ็ญแต่เดิมชื่อเมืองหนองเป็ดโพธิ์เวียง ซึ่งตรงต่อหนองคาย ประชากรได้รับความร่มเย็นเป็นสุขจากเจ้าปกครองในปีเถาะ เดือนห้า วันเพ็ญ พระนางจันทรา มเหสีได้คลอดบุตรเป็นหญิงมีรูปร่างสวยงามประดุจพระจันทร์วันเพ็ญ จะหาธิดาเมืองใดจะงามเทียบเท่า พระบิดา มารดาจัดประทานนามให้บุตรตนว่า “ นางเพ็ญ ” และได้ให้ความรักเอ็นดูเอาอกเอาใจจนนางเพ็ญอายุได้ 19 ปี เมื่อ เมื่อนางเพ็ญเติบโตเป็นสาวก็ยิ่งงดงามยิ่งขึ้น ใครเห็นก็มองไม่อิ่มจนเล่าลือไปถึงเมืองต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงต่างก็มาชม เมื่อเห็นนางเพ็ญงามมากจึงอยากได้เป็นลูกสะใภ้ อยากได้เป็นภรรยา ในปีถัดมาสามหัวเมืองจะมาสู่ขอนางเพ็ญ คือ เมืองฝายเหนือ(เมืองบาง) โดยเจ้าชายขัดติยะราช เป็นผู้มีปรีชาสามารถมีรูปโฉมงดงามเป็นที่รักใคร่นับถือของประชาชน เป็นผู้ช่วยว่าราชการแทนบิดา หัวเมืองทางตะวันออกคืออันทะปัตถานคร (อำเภอหนองหานในปัจจุบัน)  มีบุตรชื่อเจ้าชายเชียงงาม และฝ่ายเมือง ภูเงินโดยท้าวไชยะเสนะได้จัดแจงเครื่องบรรณาการมาสู่ขอนางเพ็ญ เป็นเหตุให้พระวรปิตตายุ่งยากใจมาก เจ้าเมืองทั้ง 3 ได้ยกกองทัพมาล้อมหนองเป็ดโพธิ์เวียงไว้ ถ้าจะตกลงรับหมั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็เกรงอีกสองเมืองจะทำสงครามแย่งชิงนางเพ็ญให้ได้ พระวรปิตตาได้ปรึกษาหารือดูว่าจะเอาเมืองใดเป็นลูกเขย พระนางจันทรามเหสีจึงลงความเห็นว่าเมืองใดมีอำนาจมากก็เลือกเมืองนั้น ส่วนนาเพ็ญผู้เป็นธิดาไม่เห็นด้วย ถ้านางเพ็ญเป็นภรรยาของอีกฝ่ายหนึ่ง สองเมืองก็จะยกทัพเข้าโจมตีเป็นที่เดือดร้อนแก่ไพร่ฟ้าประชาชนต้องล้มตายลงเป็นจำนวนมาก พระนางจึงขอยอมพลีชีวิตของนางเองแต่ผู้เดียวดีกว่าทำให้ผู้อื่นต้องเสียชีวิตแทนตน จึงไม่ยอมแต่งงานกับใคร เมื่อคิดเช่นนั้น นางจึงอ้อนวอนบิดามารดาสร้างธาตุนี้ขึ้น ลูกหนึ่งตรงหน้าบ้านก่อด้วยอิฐเสริมปูน ประมาณ 5 เมตร วัดฐานโดยรอบ 18 เมตร ให้มีโพรงข้างใน ปิดประตูธาตุนี้ไว้ สร้างขึ้นเมื่อวันศุกร์  ปีมะแม เดือนสี่ พ.ศ. เท่าไหร่ตำนานไม่บอกไว้ เสร็จในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 7 พระนางก็กราบลาบิดามารดา ประชาชนพลเมืองเข้าพิธีกรรมในโพรงธาตุเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน เมื่อพระนางเพ็ญเข้าธาตุก็ไม่ยอมโผล่หน้ามาให้ใครเห็น เจ้าชายทั้ง 3 ก็มารวมกันที่ริมฝั่งน้ำตรงหน้าธาตุ มีการตีฆ้องร้องป่าวให้มีเสียงอึกทึกครึกโครมพอครบ 7 วัน พระนางเพ็ญก็ให้บิดามารดาก่ออิฐเสริมปูนอัดประตูธาตุในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ปีมะแม
     ดังนั้นในวันนี้ของทุกปีชาวบ้านเพ็ญจึงพร้อมกันจัดทำบุญบ้องไฟจุดเพื่อเป็นการบูชาดวงวิญญาณของ พระนางเพ็ญ ให้ได้สู่สรวงสวรรค์เหมือนกับบ้องไฟที่จุดแล้วลอยขึ้นฟ้าเป็นงานเทศกาลประจำปีของเราตลอดมาทุกวันนี้ เพื่อปวงสรวงดวงวิญญาณของพระนางเพ็ญที่มีจิตใจเด็ดเดี่ยวยอมพลีชีวิตของตนผู้เดียวป้องกันความ วิบัติขัดสนของประชาชน
     ปัจจุบันพระธาตุนางเพ็ญยังสถิตสถานอยู่ที่วัดเกาะแก้ว หมู่ที่ 11 ต.เพ็ญ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี ซึ่งได้รับการบูรณะองค์ธาตุเรื่อยมาเพื่อให้อยู่ในสภาพคงทนถาวร
  
**  เรียบเรียงจากประวัติอำเภอเพ็ญ  **
โดย นางสาวเกศณี นระมาตย์
6  กรกฎาคม 2546