สถานที่ท่องเที่ยว

อำเภอบ้านดุง | เชิงชุมชน

แหล่งทำนาเกลือบ้านดุง คำกล่าวที่ว่า จงรักษาความดีดั่งเกลือรักษาความเค็ม เคยได้ยินคนเก่าแก่บอกเล่าและใช้กันมานานและก็ยังสามารถใช้ได้อยู่ เกลือมีแหล่งผลิตและที่มากันมากมายหลายแหล่งผลิต ไม่ว่า จะเป็นเกลือสมุทร (เกลือที่ได้จากการกลายเป็นไอของน้ำทะเล ใช้ในการทำอาหารและเครื่องสำอางมักมีราคาแพงกว่าเกลือแกง) หรือเกลือสินเธาว์ (เกลือชนิดหนึ่งที่ได้จากหินเกลือ หรือ ดินเค็ม ดินโป่ง เกลือสินเธาว์ เป็นเกลือที่พบบนบก และพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย) และมีความแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของเกลือ แต่สำคัญยังไงก็มีความเค็ม ซึ่งวันนี้จึงอยากจะนำมาให้รู้จักกับเกลือบ้านดุงเกลือบ้านดุงขึ้นชื่อว่าเป็นเกลือที่มีคุณภาพและมีรสชาติดีกว่าเกลือทะเลเพราะไม่มีซัลเฟตมาก สามารถผลิตเป็นเกลือไอโอดีนได้ ที่สำคัญเกลือต้มของอำเภอบ้านดุง ทำมาจากน้ำเค็มปนหวานจะไม่มีรสขม นักท่องเที่ยวที่มีโอกาสไปเคารพสักการะปู่คำชะโนดต่างพากันซื้อเกลือบ้านดุงกลับบ้านและเป็นของฝาก เกลือคุณประโยชน์ของเกลือมีหลายประการ เช่นการดองผัก ดองผลไม้ ล้างผักฆ่าเชื้อโรค ถนอมอาหารตากแห้ง ดับกลิ่นเหม็นคาว เป็นส่วนผสมของอาหารมากมาย และเป็นส่วนผสมการทำปุ๋ยเคมี สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ผงซักฟอก ครีมนวด เป็นต้น 

อำเภอบ้านดุง | เชิงวัฒนธรรม

วัดป่าคำเจริญ เป็นวัดที่สวยงาม โบสถ์เด่นสง่า จะมีสระอยู่ที่บันได ให้เหมือนกับทางขึ้นจากบึงบาดาล ใครจะเเวะมาเที่ยวคำชะโนด สามารถแวะเที่ยวที่นี่ก่อนได้ครับ ทางเดียวกับทางไปคำชะโนดแต่ถึงก่อนเลี้ยวขวา มีป้ายบอกทางอยู่ วัดป่าแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เนื้อที่จำนวน 100 ไร่ ได้ทำเป็นศูนย์เรียนรู้ธรรมะ ตามแนวทางพระศาสดา โดยมีกิจกรรมเข้าค่ายธรรมะ และบวชสามเณรภาคฤดูร้อนเป็นประจำทุกๆปี

อำเภอบ้านดุง | เชิงวัฒนธรรม

วัดป่าบ้านเหล่าหลวง
วัดป่าสายปฎิบัติธรรมคนทั่วไป
อาจจะไม่คุ้นเป็นที่สถิตย์ของ
องปู่ศรีสุทโธและเจ้าย่า
นอกจากนัั้นยังมีพญานาคราช
สถิตย์ที่นี่อีก 2 ตน

อำเภอบ้านดุง | เชิงวัฒนธรรม

ป่าคำชะโนด หรือ เมืองชะโนด หรือ วังนาคินทร์คำชะโนด เป็นผืนกอวัชพืช (floating mat) ขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ เกิดจากการทับถมและผสานตัวของซากวัชพืชน้ำจำนวนมากเป็นระยะเวลายาวนาน จนก่อกำเนิดคล้ายกับเป็นผืนแผ่นดินลอยตัวในรูปแบบเกาะกลางอ่างเก็บน้ำกุดขาม ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงฤดูฝนในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง อ่างเก็บน้ำกุดมีปริมาณน้ำสูงขึ้น ป่าคำชะโนดจึงไม่จมน้ำที่ตามระดับน้ำที่สูงขึ้น หรือเมื่อระดับน้ำลดลง ป่าคำชะโนดก็มีการปรับสภาพไปตามระดับน้ำ ภายในป่าคำชะโนดมีพรรณไม้เด่นคือต้นชะโนด ซึ่งเป็นพืชจำพวกปาล์ม มีความสูงกว่า 30 เมตร

ป่าคำชะโนด ตั้งอยู่ในพื้นที่ 3 ตำบล คือ ตำบลวังทอง, ตำบลบ้านม่วง และตำบลบ้านจันทร์ ใน อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ป่าแห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญ ที่ปรากฏในตำนานพื้นบ้านอีสาน ประชาชนในพื้นที่เชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของพญานาค ปู่ศรีสุทโธ ย่าศรีประทุมมา และสิ่งลี้ลับต่าง ๆ บ่อยครั้งที่ชาวบ้านในละแวกนั้นจะพบเห็นชาวเมืองชะโนดไปเที่ยวงานบุญพระเวสสันดร รวมถึงหญิงสาวที่มายืมเครื่องมือทอผ้าอยู่เป็นประจำ

ป่าคำชะโนด แม้จะเป็นผืนแผ่นดินลอยตัวจากกอวัชพืช ทำให้มีการลอยตัวไปตามพลวัตของน้ำ แต่ป่าแห่งนี้ก็เคยเกิดน้ำท่วม โดยเคยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2516 พ.ศ. 2538 พ.ศ. 2559 และ พ.ศ. 2560 ทั้งนี้เชื่อว่าเกิดจากการที่มีการก่อสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ มากขึ้นกว่าเดิมในอดีต จึงทำให้พื้นที่ของเกาะซึ่งลอยน้ำอยู่นั้นมีความหนัก เป็นสาเหตุที่ทำให้ผืนกอวัชพืชบางส่วนจมน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกลางปี พ.ศ. 2560 ที่ต้องมีการปิดเกาะแห่งนี้เป็นการชั่วคราว