สถานที่ท่องเที่ยว

อำเภอหนองหาน | เชิงวัฒนธรรม

วัดสันติวนาราม หรือที่มีชื่อเรียกคือ วัดป่าดงไร่ ตั้งอยู่ที่ ตําบลบ้านเชียง อําเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นวัดที่มีพระอุโบสถกลางน้ำเป็นทรงดอกบัว และมีเพียงหนึ่งเดียวในไทยเท่านั้น โดยอุโบสถจะเป็นทรงดอกบัว 24 กลีบ พอเดินเข้าไปจะรู้สึกได้ถึงความสวยงามและความสงบร่มรื่น ซึ่งภาพ​วาดบนผนังดอกบัว จะเป็นรูปภาพเกี่ยวกับ​พุทธ​ประวัติที่สวยงาม

 พระอุโบสถดอกบัว นี้ จะมีขนาด 19 x 19 เมตร มีดอกบัว 24 กลีบ พญานาค 2 ตัว อยู่ด้านหน้า และมีสะพานทางเดินทอดยาวไปได้ถึงตัวอุโบสถ ที่สำคัญคืออยู่กลางหนองน้ำ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า หนองน้ำอีสานเขียว และมีปลาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก สามารถทำบุญโดยการให้อาหารปลาได้ด้วย

     พื้นที่ของ วัดสันติวนาราม จะอยู่บนพื้นที่กว่า 1,350 ไร่ อยู่ด้านเหนือของหมู่บ้านเชียง เป็นป่าไม้ธรรมชาติ 1,000 ไร่ เป็นหนองน้ำ 100 ไร่ ไว้สำหรับสร้างสถานที่ปลูกสร้างเสนาสนะต่างๆ และมีลานอเนกประสงค์ 130 ไร่ มีถนนลาดยางเข้าถึงวัดได้เลย ด้านหน้าจะล้อมด้วยกำแพงคอนกรีต ส่วนรอบๆ จะล้อมด้วยลวดหนาม 7 เส้น เสาปูนคอนกรีตเสริมเหล็ก มีทั้งสัตว์ป่าธรรมชาติ เช่น กวาง หมี นกนานาชนิด นกน้ำมากมายอาศัยอยู่โดยรอบ

อำเภอหนองหาน | เชิงวัฒนธรรม

หลุมขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีใน เป็นแหล่งโบราณคดี สถานที่ตั้งอยู่ภายในวัดโพธิ์ศรีใน ซึ่งอยู่ห่างจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง ไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 500 เมตร เป็นสถานที่สำคัญหนึ่งที่เก็บรักษาศิลปะเครื่องปั้นดินเผาของบ้านเชียงที่เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถไปเยี่ยมชมได้

ลักษณะเด่น

หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน เป็นพิพิธภัณฑ์เปิดแห่งแรกของประเทศไทย สร้างเป็นอาคารชั้นเดียวครอบหลุมขุดค้นที่จัดแสดงการขุดค้นชั้นดินในระดับต่าง ๆ ซึ่งพบว่ามีโครงกระดูกมนุษย์และภาชนะดินเผา แสดงให้เห็นถึงความเชื่อและวิธีการฝังศพของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อ 2,300–1,800 ปีมาแล้ว โดยโครงกระดูกมนุษย์จะหันศีรษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีเครื่องมือประเภทขวานและหอกเหล็กวางอยู่ ส่วนปลายเท้าของโครงกระดูกมีภาชนะดินเผาลายเขียนสีบรรจุเปลือกหอยน้ำจืดกระดูกสัตว์และยังพบร่องรอยแกลบข้าวติดอยู่ที่สนิมของเหล็ก ซึ่งต่อมาพิสูจน์ได้ว่ามีการเพาะปลูกข้าวในยุคสมัยนั้น

ประวัติ

นับตั้งแต่พุทธศักราช 2510 เป็นต้นมา กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียงหลายครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่ในบริเวณเนินดินด้านทิศตะวันออก หลักฐานทางโบราณคดีที่พบส่วนใหญ่ คือ หลุมฝังศพกว่า 400 หลุม เป็นโครงกระดูกของมนุษย์ฝังร่วมกับสิ่งของเครื่องใช้ วัดโพธิ์ศรีในเป็นพื้นที่ดำเนินงานที่สำคัญแห่งหนึ่ง เนื่องจากพบหลุมศพของมนุษย์เป็นจำนวนมาก กรมศิลปากรจึงอนุรักษ์ไว้ และจัดแสดงหลุมขุดค้นในลักษณะพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้ง มีการขุดค้นเพิ่มเติม และสร้างอาคารคลุม เมื่อพุทธศักราช 2535 กระทั่งเมื่อพุทธศักราช 2540 เกิดอุทกภัยน้ำซึมเข้าหลุมขุดค้นส่งผลให้โบราณวัตถุที่จัดแสดงได้รับความเสียหาย กรมศิลปากรจึงดำเนินการเก็บโบราณวัตถุมาทำการอนุรักษ์ในพุทธศักราช 2546 และได้ทำการจำลองหลุมขุดค้นในลักษณะเดิม เพื่อให้ประชาชนได้ชมร่องรอยการทำงานทางโบราณคดีเมื่อครั้งอดีต และโบราณวัตถุที่ผ่านการอนุรักษ์แล้วนั้นได้นำมาจัดแสดงไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง

 

อำเภอหนองหาน | เชิงวัฒนธรรม

แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง  ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันออกประมาณ 60 กิโลเมตร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตั้งอยู่บนเนินดินสูง รูปยาวรี ตามแนวตะวันออก - ตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ กลางเนินสูงกว่าพื้นที่รอบ ๆ ราว 8 เมตร ราษฎรชาวบ้านเชียงในปัจจุบันมีเชื้อสายลาวพวนที่อพยพเคลื่อนย้ายชุมชนมาจากแขวงเชียงขวางประเทศลาว เมื่อ 200 ปีมาแล้ว แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งที่ทำให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัตศาสตร์ ย้อนหลังไปกว่า 4,300 ปี ร่องรอยของมนุษย์ในประเทศไทยสมัยดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่มีพัฒนาการแล้วในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านความรู้ความสามารถหรือภูมิปัญญา อันเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยให้ผู้คนเหล่านั้นสามารถดำรงชีวิต และสร้างสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ได้สืบเนื่องต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนานวัฒนธรรมบ้านเชียง ได้ครอบคลุมถึงแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกกว่าร้อยแห่งเป็นบริเวณพื้นที่ที่มีมนุษย์อยู่อาศัยหนาแน่นมาตั้งแต่หลายพันปีแล้ว ด้วยเหตุนี้เององค์การยูเนสโก ของสหประชาชาติจึงได้ยอมรับขึ้นบัญชีแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียงไว้เป็นแห่งหนึ่งในบรรดามรดกโลก