สถานที่ท่องเที่ยว

อำเภอประจักษ์ | เชิงวัฒนธรรม

วัดมัชฌิมาวาส

ประวัติความเป็นมา  วัดมัชฌิมาวาส เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญของจังหวัดอุดรธานี ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า วัดเดิม หรือ วัดเก่า  ก่อนจะมาเป็นวัด

มัชฌิมาวาส ก็เคยเป็นวัดร้างมาก่อน ชื่อว่าวัดโนนหมากแข้งแต่หลักฐานที่พอให้ทราบได้ว่าเป็นวัดร้างนั้น ก็มีอยู่ 2 อย่าง คือเจดีย์ศิลาแลงตั้งอยู่ที่โนน (เนิน) ประชาชนเล่าสืบกันมา ว่าเจดีย์นั้นได้ครอบ หรือ คร่อมตอหมากแข้งขนาดใหญ่ และมีพระพุทธรูปหินขาว ปางนาคปรก หรือหลวงพ่อนาค (ปัจจุบัน คือ หลวงปู่นาค) อยู่ภายในเจดีย์ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองอุดรมาอย่างยาวนาน 

ต่อมาในรัชกาลที่ 5 พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม สมัยดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงใหญ่ ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองลาวพวน 

ข้าหลวงมณฑลผู้ก่อตั้งเมืองอุดรได้สร้างวัดขึ้น ณ บริเวณนี้ ซึ่งอยู่ในเขตตำบลโนนหมากแข้ง (ซึ่งเคยเป็นวัดร้าง) แล้วมีภิกษุจำพรรษาอีกครั้ง  เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วัดมัชฌิมาวาส เมื่อราว พ.ศ. 2436 พร้อมกับการสร้าง เมืองอุดรธานีขึ้น วัดมัชฌิมาวาสจึงได้ขึ้นชื่อว่าเป็นวัดที่เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองอุดรฯจนตราบเท่าทุกวันนี้ 

ปัจจุบันพระพุทธรูปหินขาว ปางนาคปรก หรือ "หลวงพ่อนาคปรก" ก็ได้นำมาประดิษฐานไว้ที่หน้าพระอุโบสถ ให้ชาวอุดรฯและจังหวัดใกล้เคียงได้

สักการบูชา กันมาจนถึงทุกวันนี้ และกลายเป็นพระพุทธรูปที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์คู่วัดมัชฌิมาวาสตลอดมา 

ทั้งนี้วัดมัชฌิมาวาส หรือชื่อเดิมว่า วัดโนนหมากแข้ง ได้รับพระราชทานบรมราชานุญาตสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 7 

พฤษภาคม พ.ศ. 2507 

ที่วัดมัชฌิมาวาส นอกจากประดิษฐานหลวงพ่อนาคแล้ว ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไปแล้ว ยังเป็นวัดที่สำคัญตั้งแต่แรกเริ่มการสร้าง

เมืองอุดรธานี ดังนั้นจึงมีสิ่งก่อสร้างสมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฎอยู่หลายอย่าง เช่น พระอุโบสถ พระวิหารและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์เป็นอย่างดีมาแล้ว จึงเหมาะสำหรับผู้สนใจศึกษาด้านสถาปัตยกรรม ยิ่งกว่านัั้นยังร่มรื่น เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการมาปฏิบัติธรรมอีกด้วย  

ส่วนทำเลที่ตั้งของวัดมัชฌิมาวาส  วัดมัชฌิมาวาส ตั้งอยู่บนเนื้อที่ทั้งหมด 15 ไร่ 1 งาน มีถนนล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านทิศตะวันออก ติดกับ

ถนนหมากแข้ง และถนนดุษฎี ด้านทิศใต้ ติดกับถนนวัฒนา ด้านทิศเหนือ ติดกับถนนโพนพิไสย อยู่ใกล้กับสถานที่ราชการหลายแห่ง คือ ใกล้ศาลจังหวัดอุดรธานี โดยห่างจากศาลจังหวัดอุดรธานทีเพียง 40 เมตรเท่านั้น ใกล้กับสถานีกาชาดที่ ๙ และสาธารณสุขจังหวัด ประมาณ 30 เมตร ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 120 เมตร ด้านหลังติดกับโรงเรียนเทคนิคอุดรธานี โดยห่างกันเพียง 30 เมตร ห่างจากสำนักงานเทศบาลเมืองอุดรธานี ประมาณ 250 เมตร และตั้งอยู่ในย่านกลางของคุ้มต่าง ๆ คือ คุ้มบ้านห้วย คุ้มบ้านโนน คุ้มหมากแข้ง คุ้มทุ่งสว่าง และคุ้มบ้านคอกวัว

 

อำเภอประจักษ์ | เชิงวัฒนธรรม

วัดลุมพินีวันวราราม
ตั้งอยู่เลขที่ 65 บ้านดอนกลาง หมู่ที่ 1 ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุมภวร จังหวัดอุดรธานี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน อาณาเขต ทิศเหนือ ประมาณ 2 เส้น จดทาง ทิศใต้ประมาณ
2 เส้น จดทาง ทิศตะวันออกประมาณ 2 เส้น จดทางทิศศตะวันตกประมาณ 2 เส้น จดทาง อาคารเสนาสนะประกอบด้วย ศาลาการเปรียญ กว้าง 12 เมตร ยาว 24 เมตร สร้างด้วยไม้ กฏิสงฆ์ จำนวน 2 หลัง เป็นอาคารไม้ปูชนียวัตถุมี พระพุทธรูป หน้า-ตักกว้าง 24 นิ้ว สูง 36 นิ้ว และพระพุทธรูปต่าง ๆ ประมาณ 20 องค์

วัดลุมพินีวันวราราม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2480 ชาวบ้านเรียกว่า วัดบ้านดอนกลาง เดิมสถานที่ ตั้งวัดเป็นป่าไผ่ที่ร่มรื่นเงียบสงบ พระสิงห์จึงร่วมกับชาวบ้านสร้างวัดและพัฒนาขึ้นจนปัจจุบัน การ- บริหารและการปกครอง มี
เจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ รูปที่ 1 พระสิงห์ พ.ศ.2481-2490 รูปที่ 2 พระทองคำ พ.ศ. 2490-2472 รูปที่3 พระสอน ยโสธโร พ.ศ. 2472-2500 รูปที่ 4 เจ้าอธิการ-อ่อนตา ปญญาปทีป พ.ศ. 2500-2518 รูปที่ 5 พระมา จนทโก ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา
 

อำเภอกู่แก้ว | เชิงวัฒนธรรม

วัดกู่แก้วรัตนาราม (ปรางค์กู่แก้ว)

บ้านกู่แก้วตำบล บ้านจีต อำเภอ กู่แก้ว จังหวัด อุดรธานี

ตามการสันนิษฐานของกรมศิลปากร วัดกู่แก้วเป็นศาสนสถาน ก่อด้วยศิลาแลงประกอบด้วยปราสาทประธาน และวิหารตั้งอยู่ภายในกรอบกำแพงแก้วศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทางเข้าอยู่ที่ซุ้มประตูทางด้านทิศตะวันออก

โบราณสถานแห่งนี้ สันนิษฐานว่าเป็นอโรคยาศาลหรือ โรงพยาบาล สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มหาราชองค์สุดท้ายของเขมร ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้รับอิทธิพลบายล โดยมีพระโพธิสัตว์ไภสัชยคุรุไวฑูรประภาผู้ทรงการแพทย์เป็นประติมากรรมที่ สำคัญของศาสนสถาน

เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหกของทุกปี ชาวอำเภอกู่แก้วจะจัดงานประเพณีบุญเดือนหกซึ่งถือเป็น ประเพณีที่สำคัญที่ปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนานซึ่งจะมีพิธีบวงสรวงปรางค์กู่ แก้วเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตน ครอบครัว โดยเฉพาะบ้านจีตที่ไปทำงานต่างถิ่นแทบจะทุกคนจะต้องกลับมาทำบุญเดือนหกมา ร่วมเคารพสักการะปรางค์กู่แก้วโบราณสถานแห่งนี้ทุกปี 

ปัจจุบันชาวตำบลบ้านจีตถือว่าวัดกู่แก้วรัตนาราม เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่สถิตของพ่อตื้อพ่อตันทุกวันเพ็ญเดือนหกจะจัดให้มีบุญบั้งไฟเพื่อบูชาวัดกู่แก้วรัตนารามซึ่งชาวอำเภอกู่แก้วไม่ว่าอยู่ แห่งหนใด ก็จะกลับมาร่วมพิธีกรรมดังกล่าว
 

อำเภอกู่แก้ว | เชิงวัฒนธรรม

วัดป่าศรีคุณารามเดิมมีชื่อว่า "วัดป่าศรีคุณรัตนาราม" ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านจีต อำเภอกู่แก้ว จังหวัดอุดรธานี เป็นวัดสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต โดยมีพระอาจารย์ประจักษ์ ภูริปัญโญ เป็นเจ้าอาวาส สถานที่สำคัญของวัดแห่งนี้ คือ พระมหาเจดีย์มงคลพระบรมสารีริกธาตุ  ซึ่งภายในชั้น ๑ และชั้น ๒ ของพระมหาเจดีย์ได้ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุ(ส่วนพระจักษุธาตุ) พระอรหันตธาตุต่างๆ ของพระสาวก และยังมีพระพุทธรูปองค์สำคัญคือ หลวงปู่ตัน ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวกู่แก้ว ประดิษฐานอยู่บนชั้น ๓ ของพระมหาเจดีย์  ภายในพระมหาเจดีย์ถูกเขียนด้วยภาพเขียนอันงดงามซึ่งบรรยายพุทธประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้  และโดยรอบของพระมหาเจดีย์ ถูกล้อมรอบด้วยสวนดอกไม้อันงดงาม ร่มรื่น  พระมหาเจดีย์แห่งนี้จึงเเป็นสถานที่ที่ควรแก่การไปสักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนและดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาตราบนานเท่านาน


 

อำเภอกุดจับ | เชิงธรรมชาติ

วนอุทยานภูหินจอมธาตุ จ.อุดรธานี เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ มีจุดเด่นอยู่ที่หินจอมธาตุ ซึ่งมีลักษณะคล้ายจอมธาตุ สูงจากพื้นประมาณ 20 เมตร และทิวทัศน์บริเวณลานหิน สามารถมองเห็นเขื่อนห้วยหลวง และตัวจังหวัดอุดรธานีด้วย

ประวัติความเป็นมา
วนอุทยานภูหินจอมธาตุ จัดตั้งขึ้นตามคำสั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2549 โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) โดยกำหนดให้ป่าอนุรักษ์ (โซนซี) ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ากุดจับ ท้องที่ตำบลกุดจับ ตำบลขอนยูง ตำบลตาลเลียน อำเภอกุดจับและตำบลน้ำพ่น อำเภอหนองวัวซอ ให้เป็นวนอุทยานภูหินจอมธาตุ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครองทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า การศึกษาวิจัยทางวิชาการ การพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไปและเพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับอยู่อาศัยของสัตว์ป่า แหล่งอาหารแหล่งนันทนาการและการท่องเที่ยวทางธรรมชาติของประชาชน ลักษณะทั่วไป เป็นลักษณะภูมิประเทศภูเขาหินทราย สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 200-550 เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำห้วยหลวงมีลำห้วยไหลผ่าน คือ ห้วยยาง และห้วยเชียง ไหลลงสู่เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี

ลักษณะเด่น
ลักษณะเด่นของพื้นที่และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ประกอบด้วย สวนหินรอยพระบาท อยู่ห่างจากที่ทำการวนอุทยานภูหินจอมธาตุ ประมาณ 800 เมตร มีลักษณะเป็นภูเขาหินทราย เป็นที่ราบบนสันเขาภูพานน้อย มีทัศนียภาพโดยรอบที่สวยงาม มีพื้นที่สวนหิน ค้นพบประวัติความเป็นมาของแหล่งท่องเที่ยว เช่น รอยพระพุทธบาท ถ้ำพรหมวิหาร ต้นประชุมสงฆ์ ถ้ำตาปาแดง แอ่งแม่ฮังเหย บ่อน้ำซำกกเม็ก และลาดแข้ เป็นต้น หินจอมธาตุ มีลักษณะเป็นภูเขาที่เกิดจากการเปลี่ยนแลงทางธรณีวิทยา ลักษะคล้ายจอมธาตุที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธา และบริเวณแห่งนี้ ยังสามารถชมทัศนียภาพของเขื่อนห้วยหลวง ตัวจังหวัดอุดรธานี และภูฝอยลมได้อย่างชัดเจน ศาลปู่ เป็นจุดที่สูงที่สุดในเขตวนอุทยาน สามารถชมทิวทัศน์ได้หลากหลายรอบทิศทาง ค้นพบโดยสื่อท้องถิ่น คือ Home Cable TV รายการสัมปะปิ จึงเรียกชุดชมวิวบนศาลปู่ว่าจุดชมวิวสัมปะปิ ซึ่งสามารถมองเห็นภูเขาหลังศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู เขื่อนห้วยหลวง ทิวทัศน์หมู่บ้านรอบแนวเขตวนอุทยานได้อย่างชัดเจน ถ้ำลม เป็นจุดที่สามารถชมวิวทัศน์ของป่าไม้ ขุดเขาได้สวยงามที่สุด มีลักษณะเป็นช่องเขาจึงมีลมพัดเย็นสบายตลอดเวลา สิ่งอำนวยความสะดวก มีระบบไฟฟ้า ระบบประปา ห้องสุขา มีลานแคมป์ไฟ มีที่จอดรถเพียงพอ ขณะนี้ยังไม่มีบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว หากมีการพักค้างแรมเป็นกลุ่มใหญ่ ขอให้นำเต้นท์และเครื่องนอนไปเอง ซึ่งทางวนอุทยานมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลและอำนวยความสะดวกตลอด 24 ชั่วโมง

อำเภอไชยวาน | เชิงวัฒนธรรม

ประวัติวัดป่าไชยวาน 

เป็นวัดในเขตหมู่บ้านป่าตาล ต.ไชยวาน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2533 ซึ่งตัวบ้านป่าตาลนี้ก็แยกออกมาจากบ้านไชยวานอีกที เพราะมีต้นตาลเยอะเลยชื่อว่าป่าตาล ส่วนบ้านไชยวานนั้นมาจากชื่อของต้นไฮหรือภาษาไทยกลางเรียกต้นไทร   

    เมื่อปี พ.ศ. 2311 มีกลุ่มคนได้อพยพครอบครัวมาจากเมืองสาเกษ แล้วมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในทำเลที่สมบูรณ์ ใกล้แหล่งน้ำขนาดใหญ่ และมีการตั้งชื่อหนองนั้นว่า “หนองไทรวาน” ต่อมาในเขตบริเวณหนองแห่งนั้นก็ได้กลายเป็นชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านไชยวาน” และก็คาดว่าชื่อของวัดก็มาจากชื่อของหมู่บ้านนั่นเอง ซึ่งก็น่าจะเชื่อมโยงกันที่สุดแล้ว หมู่บ้านอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกันอยู่ในเขต ตำบลไชยวานเองก็มีหลายหมู่บ้านที่ตั้งชื่อไปตามสภาพภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมโดยรอบ

อำเภอไชยวาน | เชิงวัฒนธรรม

วัดป่าสันติกาวาส เป็นหนึ่งในวัดที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งของอำเภอไชยวาน ที่มีหลวงปู่บัว สิริปุณโณ ร่วมสร้างวัดด้วย
ลักษณะเด่น มีพระธาตุไตรรัตนกมโลเจติยานุสรณ์ เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของ “หลวงปู่สมหมาย จตฺตมโน” หรือ “พระครูเมตากิตคุณ” เป็นพระผู้ใหญที่ชาวบ้านชาวเมืองอุดรธานีกราบไหว้ยกย่อง
 

ประวัติ

ย่างเข้าปี พ.ศ. 2493 ขณะนั้นบ้านหนองตูมมีเพียง 11 หลังคาเรือนเท่านั้น คณะศรัทธาญาติโยมบ้านหนองตูม มีพ่อมา สนทอง, พ่อสี นันทราช พ่อโส กล้าหาญ, พ่อทา บุษราคำ, นายพิมพ์ นิรเท ได้มีศรัทธาเลื่อมใสไปถวายทานและฟังธรรมจากหลวงปู่ที่ป่าช้าบ้านไชยวานด้วย เมื่อไม่ทราบว่าหลวงปู่จะไม่อยู่ที่ป่าช้าเพราะมีปัญหาเรื่องน้ำ คุณพ่อมา สนทอง จึงได้กราบเรียนให้หลวงปู่ทราบว่า ที่บริเวณป่าหนองท้มดงแสนแวน เป็นที่ว่างเปล่า เหมาะแก่การสร้างเป็นวัดป่า ขอนิมนต์ท่านอาจารย์ไปอยู่ในที่นั้น เมื่อหลวงปู่ได้ฟังอย่างนั้น จึงบอกให้พ่อมา สนทอง พร้อมกับหมู่คณะให้พากันไปขุดบ่อน้ำดูเสียก่อน ถ้าได้น้ำดีจึงค่อยไปอยู่ในที่นั้น พ่อมา สนทอง พร้อมหมู่เพื่อนพากันไปขุดบ่อน้ำในวันนั้น ขุดลึกไปประมาณ 4-5 เมตร ได้น้ำจืดสนิทดี จึงได้นำเอาน้ำไปถวายให้หลวงปู่ฉันดู เมื่อหลวงปู่ฉันน้ำดูแล้วเห็นว่าน้ำดี จึงตกลงย้ายจากป่าช้าบ้านไชยวาน มาที่ป่าหนองท้มในวันต่อมา


อำเภอโนนสะอาด | เชิงวัฒนธรรม

วัดถ้ำอินทร์แปลง ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนสะอาด อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เป็นวัดเล็กๆแต่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ มีอุโบสถสีเหลืองทองอร่ามตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ภายในวัด บรรยากาศภายในวัดร่มรื่นปกคลุมไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ เงียบสงบ เหมาะแก่การมาปฏิบัติธรรมมากๆ มีถ้ำอินทร์แปลง ที่มีความเชื่อว่าพระอินทร์ได้มาสร้างไว้อีกด้วย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น.
 

 

อำเภอโนนสะอาด | เชิงธรรมชาติ

น้ำตกนางริน อยู่เขตตำบลหนองกุงศรี อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี เป็นน้ำตกขนาดไม่ใหญ่ อยู่ทางไปวัดถ้ำอินแปลง คนส่วนใหญ่มาเที่ยวน่าจะเป็นวิถีไทบ้าน ไม่เป็นที่รู้จักของคนหมู่มากทำให้พื้นที่ยังมีความเป็นธรรมชาติค่อนข้างสูง แม้ว่าจะมีน้ำตกเพียงช่วงฤดูฝนเท่านั้น  รวมทั้งพื้นที่รอบ ๆ ก็ยังเขียวชะอุ่มสร้างความสดชื่นและเบิกบานใจเป็นอันมาก อากาศเย็นสบายร่มรื่น พื้นที่รอบ ๆ มีดอกไม้ดอกหญ้าขึ้นประปราย ชูช่อน่ารักทักทายผู้คนที่มาเยี่ยมน้ำตกนางรินแห่งนี้

น้ำตกนางริน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ตั้งอยู่บ้านป่าไม้ หมู่ที่ ๙ ตำบลหนองกุงศรี อำเภอโนนสะอาด ไหลจากสันภูพานคำ ค้นพบโดยพระครูถาวร ธมมฺโสภณ และชาวบ้านป่าไม้ อยู่ในเขตรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองกุงศรี

 


อำเภอกุมภวาปี | เชิงวัฒนธรรม

พระธาตุดอนแก้ว หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระมหาธาตุเจดีย์ ตั้งอยู่ที่บ้านดอนแก้ว ประดิษฐานอยู่กลางวัดมหาธาตุเจดีย์ ห่างจากตัวเมืองอุดรธานีประมาณ 50 กิโลเมตร

ประวัติความเป็นมา ดอนแก้ว เป็นเกาะเล็ก ๆ กลางหนองหานน้อยกุมภวาปี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำลำปาว ตำนานเล่าว่า พระอรหันต์กลุ่มหนึ่งจะไปนมัสการพระธาตุพรม ได้มาพักแรมที่ดอนแก้ว พระอรหันต์องค์หนึ่งอาพาธหนักถึงนิพพาน พระอรหันต์ทั้งหลายที่เหลืออยู่จึงถวายเพลิงท่าน และก่อเจดีย์บรรจุพระธาตุไว้ ต่อมาประมาณ พ.ศ. 11 มีกลุ่มคนเข้ามาในดอนแก้วแล้วสร้างใบเสมาหินทรายล้อมรอบพระธาตุไว้ และปักรายรอบบริเวณดอนแก้ว จากการศึกษาพบว่าเป็นเสมาสมัยทวารวดี ต่อมาชุมชนลาวได้อพยพจากเมืองร้อยเอ็ด เมืองชัยภูมิ เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ดอนแก้ว มีท้าวชินเป็นหัวหน้าชุมชน ได้ปฏิสังขรณ์พระธาตุเจดีย์ขึ้น (จากจารึกที่ฐานพระธาตุเป็นตัวลาวโบราณ) บอกว่าบูรณะเสร็จสิ้นปี พ.ศ. 2441 ประมาณ ปี พ.ศ. 2471 มีชุมชนหลายกลุ่มเข้ามาอยู่ในดอนแก้ว ส่วนใหญ่เป็นลางเวียง จึงได้สร้างวัดเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาขึ้นที่ดอนแก้วให้ชื่อว่า"วัดมหาธาตุเจดีย์ พ.ศ. 2513 พระครูสังฆรักษ์ (ชน) เจ้าอาวาส ร่วมมือกับชาวบ้านดอนแก้วปฏิสังขรณ์พระธาตุให้แข็งแรงกว่าเดิม จากการศึกษาของนักโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากรพบว่า อายุของพระธาตุเจดีย์มีอายุไม่ต่ำกว่า 1,500ปี และเสมาที่ปักรายรอบมีอายุประมาณ พ.ศ. 11 ลักษณะทั่วไป ดอนแก้วมีพื้นที่ลักษณะกลม มีคูน้ำล้อมรอบ ภายในเกาะเป็นที่ดอนสูง ๆ ต่ำ ๆ ใช้ทำการเกษตรไม่ได้ ชาวบ้านมาอยู่อาศัยบริเวณชายน้ำริมเกาะ หลักฐานที่พบ พบเสมาหินทรายสมัยทวารวดี บางทีมีภาพจำหลักมีจารึกที่ลบเลือนอ่านไม่ออก เสมาหินทรายปักรอบพระมหาธาตุเจดีย์ และอีกส่วนปักห่างจากพระมหาธาตุเจดีย์ไปประมาณ 500 เมตร พบพระพุทธรูปหินทรายแดง และพระพุทธรูปสำริด ฝีมือช่างพื้นบ้าน พระธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงเหลี่ยม ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง 2ชิ้น ชั้นแรกกว้างด้านละ 14 ม. สูง 1.25 ม. มีทางขึ้นลงด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตะวันตก ชั้นที่2 กว้างยาวด้านละ 10 ม. สูง1.50 ม. มีทางขึ้นลง 4 ด้าน และฐานขั้นนี้เป็นลานประทักษิณเจดีย์ องค์พระธาตุก่อด้วยอิฐถือปูน ก่อจากฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีประติมากรรมปูนปั้นรูปกลีบบัวหงายประดับที่มุมทั้ง 4 และมีประติมากรรมนูนต่ำ ภาพพระพุทธเจ้าพระสาวก เทวดา และบุคคล ประดับโดยรอบ เรือนธาตุเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกัน 3ชั้น สูงขึ้นไปตามลำดับ โดยมีบัวคว่ำ บัวหงาย และบัวลูกแก้วคั่น เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมล้านช้าง คล้ายธาตุไม้ของอิสาน เป็นการรับอิทธิพลพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ ยอดธาตุเป็นปลีเล็กเรียวแหลมขึ้นไป พบใบเสมาหินทราย บางหลักเป็นรูปสี่เหลี่ยมแบน บางหลักกลมใหญ่ บางหลักกลมเฉพาะตอนต่ำจากฐาน ตอนเหนือฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมหนา ยาวขึ้นไปกว่า 3 เมตร หลักหนึ่งมีภาพจำหลักเป็นฐานกลีบบัว เหนือกลีบบัวเป็นรูปคล้ายช้างคู่คู่หนึ่ง ถวายความเคารพเทวรูปสตรีที่ประทับกึ่งกลาง แสดงปางพระพุทธเจ้าประสูติหลักหนึ่งมีจารึกที่ลบเลือนอ่านไม่ออก เสมาหลายหลักปรักหักพัง เส้นทางเข้าสู่พระธาตุดอนแก้ว สอบถามข้อมูล ได้ที่สำนักงานอุดรธานี โทร. 0 4232 5406-7

อำเภอกุมภวาปี | เชิงวัฒนธรรม

วัดศรีนคราราม

          วัดศรีนคราราม  เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 75 ไร่  สร้างเมื่อ พ.ศ.2472  เดิมเป็นวัดร้าง  เป็นวัดโบราณสร้างสมัยขอม   มีซากของพระพุทธรูปเก่าชำรุด  ชาวบ้านได้มาพบเข้าจึงได้พร้อมกันบูรณะขึ้น  พร้อมสร้างวัดขึ้นใหม่และตั้งชื่อว่า วัดศรีนคราราม  หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัดศรีเมือง  เดิมอยู่บ้านดงเมือง  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 25  สิงหาคม 2502  เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร  ยาว  80  เมตร  

          วัดศรีนครารามได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาวัดให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง พ.ศ.2507จากกรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการและได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการอำนวยการ ให้เป็นวัด ลานวัด ลานใจ  ลานกีฬา พ.ศ.2541  จากกรมการศาสนา  กระทรวงศึกษาธิการ

          ปัจจุบันวัดศรีนครารามเป็นสถานที่ศึกษาแผนกธรรมและบาลี  เป็นศาสนศึกษาประจำอำเภอ  ส่งนักเรียนเข้าสอบธรรมและบาลีสนามหลวงเป็นประจำทุกปี และมีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา  เปิดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2539 จนถึงปัจจุบัน   


 

อำเภอวังสามหมอ | เชิงชุมชน

    “อำเภอวังสำมหมอ” ก่อตั้งเป็นกิ่งอ้าเภอเมื่อ พ.ศ. 2518 และได้รับยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อเดือน
กรกฎาคม 2524 ชื่อ “วังสามหมอ” มาจากตำานานเก่าแก่ว่ามีจระเข้ใหญ่ ตัวหนึ่งหลงกลืนร่างธิดาเจ้าเมืองท่าขอนยางและกลัวความผิด จึงได้หนีตามล่ามากบดานที่วังน้ำใหญ่ ของน้ำลำพันชาด เจ้าเมืองได้ให้
คนมาปราบจระเข้ตัวนี้โดยใช้หมอผู้มีเวทย์มนต์มาปราบ หมอผู้ชาย 2 คนแรก สู้พญาจระเข้ไม่ได้ ต้องสังเวยชีวิต ไป ส่วนหมอคนที่ 3 เป็นหญิงมีเวทย์มนต์อาสาปราบจนพญาจระเข้สิ้นฤทธิ์ในที่สุด เพราะการที่ต้องใช้
หมอปราบพญาจระเข้ ถึง 3 คน นี้เองวังน้ำแห่งนี้ จึงถูกตั้งชื่อว่า “วังสามหมอ” และถูกนำมาใช้เป็นชื่ออำเภอในที่สุด วังน้ำใหญ่แห่งนี้ปัจจุบัน ตั้งอยู่บ้านวังใหญ่หมู่ที่6 ตำบลหนองกุงทับม้าอำเภอวังสามหมอจังหวัดอุดรธานี



 

อำเภอศรีธาตุ | เชิงวัฒนธรรม

วัดศรีธาตุประมัญชา

เดิมเป็นวัดร้าง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ราษฎรจากบ้านพันลำได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานและหักร้างถางพงได้พบเนินดินร้างซึ่งมีพระธาตุ และมีเสมาหินสลักเป็นรูปดอกบัว ปักเรียงรายอยู่โดยรอบ บนใบเสมายังมีอักษรโบราณจารึกไว้ ๒ แถว ( สูญหาย ) ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ มีพระภิกษุจากบ้านท่าคันโทได้ธุดงค์มาพบวัดร้างนี้จึงได้อยู่จำพรรษา ภายหลังชาวบ้านจึงช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์ และสร้างวัดขึ้นใหม่ ได้สร้างพระอุโบสถหลังแรกขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๔
 

ตามตำนานพื้นบ้านเล่าว่า คนจากนครราด (อาจหมายถึงนครราชสีมา หรือเมืองราด) นำของมีค่า แก้ว แหวน เงิน ทอง ไปช่วยสร้างพระธาตุพนม ที่ภูกำพร้า ครั้นมาถึงบ้านหนองแวงได้ทราบว่า พระธาตุพนมสร้าง เสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่างมีความเสียใจมากที่ไปสร้างพระธาตุไม่ทัน จึงสร้างเจดีย์บรรจุของมีค่าเหล่านั้นไว้ที่ด้านทิศเหนือวัดหนองแวงปัจจุบัน แต่เจดีย์เล็กไปไม่พอบรรจุของมีค่า จึงสร้างอีกองค์ห่างออกไปทางทิศใต้ ประมาณ ๒๐๐ เมตร เพื่อบรรจุสิ่งของที่เหลือ เจดีย์องค์ด้านทิศเหนือถูกขุดหาของมีค่าพังทลายลงหมด เหลือ แต่องค์ด้านทิศใต้ เหลือซากอยู่ที่วัดศรีธาตุประมัญชา ต่อมาชุมชนลาวเวียงเข้ามาอยู่ ได้สร้างวัดขึ้นที่บริเวณ
พระเจดีย์ทั้ง ๒ องค์ เรียกว่า "วัดศรีธาตุประมัญชา"



อำเภอหนองแสง | เชิงธรรมชาติ

สวนพฤกษศาสตร์ภูฝอยลม เดิมชื่อสวนรวมพรรณไม้ป่า 60 พรรษามหาราชินี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2535 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2535 สร้างขึ้นบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าพันดอน-ปะโค ในท้องที่ตำบลทับกุง อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยถูกราษฎรบุกรุกยึดถือครอบครองเข้าไปอาศัยทำกิน จนกลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม มีเนื้อที่ประมาณ 64 ตารางกิโลเมตร หรือ 40,000 ไร่ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ภูฝอยลม” เนื่องจากมี ฝอยลม ซึ่งเป็น ไลเคน แสดงให้เห็นว่าในอดีตพื้นที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์และมีความชื้นสูง

อำเภอหนองแสง | เชิงธรรมชาติ

ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าขุนห้วยสามทาก ขุนห้วยกองสี ตำบลหนองแสง มีพื้นที่ทั่งหมดประมาณ 78,125 ไร่ ประกาศเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2527

วนอุทยานน้ำตกธารงาม อยู่ในเขตป่าขุนห้วยสามพาด-ขุนห้วยกองสี อยู่ในท้องที่ตำบลหนองแสง กิ่งอำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี มีเนื้อที่ประมาณ 78,125 ไร่ โดยกรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2527 ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันและเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน โดยแยกตัวเป็นพืดยาวติดต่อกันออกไปทางทิศเหนือ พื้นที่มีความลาดชันสูงและค่อนข้างราบบนสันเขา มีลำธารหลายสายไหลลงสู่ห้วยสามพาด ห้วยน้ำฆ้องและห้วยกองสี เฉพาะที่ห้วยวังกุ่มเป็นป่าทึบและรกชัฏ ทิศใต้ของพื้นที่เป็นพะลานหินชื่อ "แหลสะอาด" ลักษณะภูมิอากาศของวนอุทยานน้ำตกธารงามแบ่งได้ 3 ฤดู คือ ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า เป็นป่าดงดิบและป่าเต็ง พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ประดู่ นนทรี มะค่าโมง มะค่าแต้ เต็งดง ยาง เต็ง รัง เป็นต้น และไม้พื้นล่างได้แก่ไผ่ต่าง ๆ หวาย กล้วยไม้เกาะหิน เฟิร์น และต้นข้าวสาร สัตว์ป่าที่พบ ได้แก่ หมูป่า เก้ง กระจง ลิง ชะนี ค่าง บ่าง อีเห็น และนกชนิดต่าง ๆ บ้านพักและสิ่งอำนวยความสะดวก วนอุทยานน้ำตกธารงาม ไม่มีบ้านพักไว้บริการแก่นักท่องเที่ยว หากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะเดินทางไปพักแรม โปรดนำเต็นท์ไปกางเอง แล้วไปติดต่อขออนุญาตกับหัวหน้าวนอุทยานน้ำตกธารงามโดยตรง หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ฝ่ายจัดการวนอุทยาน สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรุงเทพฯ 10900 แหล่งท่องเที่ยว ห้วยวังกุ่ม ที่ห้วยวังกุ่มซึ่งไหลลงห้วยน้ำฆ้องจะมีน้ำตกธารงามมีน้ำไหลเกือบตลอดปี เหนือน้ำตกธารงามตามลำห้วยขึ้นไปจนถึงขุนจะเป็นโขดหิน หน้าผาและถ้ำที่สวยงามและแปลกตา ด้านทิศใต้ของพื้นที่เป็นพะลานหินชาวบ้านเรียกแหลชื่อ "แหลสะอาด" ซึ่งเป็นแหลขนาดใหญ่ ณ จุดนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างได้สวยงามและกว้างไกล สถานที่ติดต่อ วนอุทยานน้ำตกธารงาม สำนักบริหารจัดการในพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี) อ.หนองแสง จ.อุดรธานี

อำเภอหนองแสง | เชิงวัฒนธรรม

ประวัติความเป็นมา
วัดภูทองเทพนิมิต ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2509 (สำนักสงฆ์) เริ่มมีถาวรวัตถุ เมื่อปี พ.ศ. 2512 โดยมี พระอาจารย์ถาวร ปัญญาวโร ปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาส (เดิมชื่อวัดเทพนิมิตสถิตธาวาส) ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2523 ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วัดภูทองเทพนิมิต (ภูเขาโทน) จนถึงปัจจุบัน ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจากอดีตได้มีพระสงฆ์เข้ามาจำพรรษา และปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสหลายรูป ได้บูรณะศาสนสถานก่อสร้างใหม่เพิ่มเติมโดยศรัทธาของชาวบ้าน ตลอดจนพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป และได้ใช้ประโยชน์ในการประกอบศาสนกิจต่าง ๆ มากมาย อาทิ การปฏิบัติกิจเข้าปริวาสกรรม, การบรรพชาสามเณรฤดูร้อน, การบวชชีพราหมณ์ เป็นต้น นับว่าได้ใช้ประโยชน์จากศาสนสถานแห่งนี้อย่างคุ้มค่าเป็นที่สุด จนถึงปัจจุบันและต่อไปในอนาคต
ปัจจุบัน นับเป็นบุญในศรัทธาที่น่าชื่นชมยินดี ของพุทธศาสนิกชนชาวบ้านโนนเชียงค้ำและผู้ที่เคารพนับถือ ที่พระอธิการบุญเมือง ชวโน เจ้าอาวาสวัดภูทองเทพนิมิต ได้รับพระราชทานสถาปนาตั้งสมณศักดิ์ในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาวันที่ 5 ธันวาคม 2547 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท (จร.ชท.) ในทินนาม พระครูนิมิตสาธุวัฒน์


ลักษณะเด่น
"วัดภูทองเทพนิมิต" ยังมี "หลวงพ่อทันใจ องค์ใหญ่ที่สุดในโลก" ที่ทาง "พระครูนิมิตสาธุวัฒน์" ได้สร้างเอาไว้เพื่อสักการะเป็นพระพุทธรูป¬ใหญ่ที่ประทับเด่นเป็นสง่าอยู่บนยอดเขา แม้มองจากพื้นดินก็แลเห็นเป็นพระพุทธรูปอง¬ค์ใหญ่อยู่บนยอดเขา มองจากเครื่องบินก็สวยงามไม่แพ้กัน นามพระพุทธรูป "พระพุทธชัยมงคลมหาชนอภิปูชนีย์ " หรือ "หลวงพ่อทันใจ" ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก 12 เมตร องค์พระสูง 17 เมตร รวมฐานพระพุทธรูปสูง 22 เมตร
การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองอุดรธานีประมาณ 32 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากตัวจังหวัดอุดรธานีประมาณ 40 นาที เลี้ยวขวาที่อำเภอหนองแสง มุ่งหน้าเข้าสู่ ต.ทับกุง จะสังเกตเห็นป้ายป้ายวัดภูทองเทพนิมิตแล้วเลี้ยวขวา ทางขึ้นวัดภูทองเทพนิมิตค่อยข้างลาดชัน โปรดลดความเร็วและใช้ความระมัดระวังเพื่อความปลอดภัย

อำเภอนายูง | เชิงวัฒนธรรม

วัดป่าภูก้อน ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูงและป่าน้ำโสม ท้องที่บ้านนาคำ ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี อันเป็นรอยต่อแผ่นดิน 3 จังหวัด คือ อุดรธานี เลย และหนองคาย กำเนิดขึ้นจากการดำริชอบของพุทธบริษัทสี่ ผู้ตระหนักถึงคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและป่าต้นน้ำลำธาร ซึ่งกำลังถูกทำลาย โดยในปี พ.ศ. 2527 พระเดชพระคุณหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้เมตตาปรากฏในทิพยนิมิต สั่งให้ไปธุดงค์ทางภาคอีสานเป็นเวลา 10 วัน คุณปิยวรรณและคุณโอฬาร วีรวรรณ พร้อมคณะได้เดินทางมาธุดงค์แถบจังหวัดสกลนครและอุดรธานี เกิดความเลื่อมใสในปฏิปทาของพระป่า จึงได้เข้าช่วยเหลือท่านพระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก สำนักสงฆ์บ้านนาคำน้อย ในการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจัดตั้งเป็นวัดป่านาคำน้อย และปลูกป่าทดแทนฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมกว่า 750 ไร่ อย่างถูกต้องตามระเบียบของกรมป่าไม้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมและอยู่อาศัยของพระสงฆ์ จากนั้นท่านพระอาจารย์อินทร์ถวายได้พาไปดูป่าภูก้อนที่กำลังถูกสัมปทานตีตราตัดไม้ คณะศรัทธาจึงได้ตัดสินใจสร้างวัด โดยกราบอาราธนาท่านพระอาจารย์ชาลี ถิรธัมโม (ปัจจุบันเป็นพระครูจิตตภาวนาญาณ) เป็นประธานและขวัญกำลังใจในการก่อสร้าง และได้ทำเรื่องขอใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาตินายูง-น้ำโสม เพื่อสร้างวัดในเนื้อที่ 15 ไร่ จากกรมป่าไม้ จนได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2530 ต่อมาได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกรมการศาสนา จนได้รับอนุญาตให้สร้างวัดในวันที่ 3 กรกฎาคม 2530 และมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการตั้งเป็น 'วัดป่าภูก้อน' ขึ้นในพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2530 เพื่อรักษาบริเวณวัดให้คงสภาพป่าอย่างสมบูรณ์ คณะศรัทธาจึงพยายามอย่างหนักที่จะขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่โดยรอบวัดด้วย ด้วยความเมตตากรุณาเป็นที่สุดของผู้ใหญ่ผู้มีพระคุณหลายท่านในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทย อันได้แก่ ท่านปลัดเถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ ท่านปลัดจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ท่านปลัดอนันต์ อนันตกูล ท่านอธิบดีจำนงค์ โพธิเสโร ที่เห็นคุณค่าของป่าและความตั้งใจจริงของคณะศรัทธาที่จะรักษาป่า จึงได้สนับสนุนช่วยเหลือจนเป็นผลสำเร็จ จนในที่สุดในวันที่ 22 มิถุนายน 2531 ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อจัดตั้งพุทธอุทยานมีเนื้อที่ 1,000 ไร่ และได้รับขนานนามว่า 'พุทธอุทยานมหารุกขปาริชาติภูก้อน' ภายหลังยังได้รับความสนับสนุนจากอธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมชลประทาน ท่านต่อ ๆ มา ตลอดจนท่านผู้ใหญ่ในกรมตำรวจ กองทัพบก กองทัพอากาศ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค องค์การโทรศัพท์ อีกหลายท่าน วัดป่าภูก้อนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในวันที่ 7 มิถุนายน 2532 คณะศรัทธาจึงได้พร้อมใจกันจัดงานฝังลูกนิมิต โดยได้รับเกียรติจากท่านจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีตัดลูกนิมิตและผูกพัทธสีมา ณ วัดป่าภูก้อน เมื่อวันที่ 13-14 มกราคม 2533 และรวบรวมปัจจัยในงานจัดตั้งมูลนิธิ 'ปิยธรรมมูลนิธิ' ขึ้น เพื่อเกื้อกูลพระภิกษุสามเณรในวัดและงานสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ในท้องถิ่น พุทธอุทยานแห่งนี้ยังเคยเป็นสถานที่ธุดงควัตรของพระนวกะ จากโรงเรียนนายร้อยทั้ง 4 เหล่าทัพ ซึ่งอุปสมบทในภาคฤดูร้อน โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดเกล้าฯ บรรพชาที่วัดบวรนิเวศฯ แล้วประทานอนุญาตให้มาอบรมกรรมฐานที่วัดป่าภูก้อน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นเวลา 5 ปี ติดต่อกันมา ปัจจุบันนี้วัดมีศาลาอุโบสถ 2 ชั้น 1 หลัง ซึ่งเป็นที่ประกอบพิธีสงฆ์ชั้นบนและเป็นที่ฉันชั้นล่าง มีกุฏิพระ 45 หลัง เรือนครัว 1 หลัง เรือนพักฆราวาส 6 หลังถังเก็บน้ำคอนกรีต 20 ถัง และห้องน้ำจำนวนมาก โดยใช้ระบบประปาภูเขา จากฝายเก็บน้ำดินขนาดเล็กที่เป็นแหล่งต้นน้ำซับและน้ำตกในวัด ซึ่งต่อมากรมชลประทานได้บูรณะถวายให้แข็งแรงถาวรในปี 2538 และวัดยังได้ต่อระบบประปาไปถึงหมู่บ้านนาคำที่อยู่ห่างจากวัดไป 4 กม. เพื่อให้ชาวบ้านมีแหล่งน้ำใช้อย่างสะดวกและสะอาด ในปัจจุบันนี้ วัดป่าภูก้อนดำรงคงอยู่ด้วยความสมดุลของป่าไม้ที่ทวีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นทุกคืนวัน โดยบุคคลผู้มีความศรัทธาและระลึกคุณของสรรพสิ่งทั้งหลายของชาติและแผ่นดินอันเป็นที่กำเนิดแห่งชีวิต โดยมีคุณพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องสำนึก และมีพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่ชาวไทยทุกคนควรทดแทน เป็นกำลังใจส่งเสริมพระสงฆ์ผู้ปฎิบัติดีปฎิบัติชอบให้ดำรงปฏิปทาของพระป่ากรรมฐานเพื่อบูชาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จนถึงที่สุด สอบถามข้อมูล ได้ที่สำนักงานอุดรธานี โทร. 0 4232 5406-7

 

 

อำเภอน้ำโสม | เชิงธรรมชาติ

มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจคือน้ำตกยูงทอง ตั้งอยู่ที่บ้านสว่าง หมู่ 2 ตำบลนายูง เป็นน้ำตกตั้งอยู่บนสันเขาภูพาน

อุทยานแห่งชาตินายูง-น้ำโสม เป็นพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี เลย และหนองคาย มีสภาพภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาสูงชันสลับซับซ้อนที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200-500 เมตร ภูเขาที่สูงที่สุดคือ ภูย่าอู่ สูงประมาณ 588 เมตร สภาพป่าส่วนใหญ่ยังอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ เช่น ห้วยน้ำโสม ห้วยตาดโตน ลักษณะดินโดยทั่วไปเป็นดินร่วนปนทรายตามป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณและดินลูกรังตามป่าเต็งรัง หินที่พบในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหินทราย สภาพภูมิอากาศเป็นแบบมรสุม ฤดูร้อนอากาศร้อนมาก อุณหภูมิประมาณ 40 องศาเซลเซียล ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ฤดูฝนระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม และฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อากาศหนาวเย็น อุณหภูมิประมาณ 10-20 องศาเซลเซียล ปริมาณน้ำฝนตลอดปีประมาณ 1,000-1,500 มิลลิเมตร สภาพป่าเป็นป่าเต็งรังกระจายตามเชิงเขาและสันเขา พันธุ์ไม้สำคัญคือ เต็ง รัง เหียง พลวง ฯลฯ พืชพื้นล่างเป็นหญ้าเพ็ก กระเจียว ตามหุบเขาเป็นป่าเบญจพรรณ มีชิงชัน แดง ประดู่ มะค่าแต้ และไผ่หลายชนิด เช่น ไผ่ซาง ไผ่ข้าวหลาม ไผ่ไร่ ไผ่ป่า ตามริมห้วยเป็นป่าดิบแล้ง พบยาง กระบาก ตะเคียน ตะแบก มะค่าโมง ฯลฯ พืชอิงอาศัยจะมีกล้วยไม้ต่าง ๆ และเฟินกระเช้าสีดา ขึ้นเกาะอยู่ตามคาคบไม้อยู่มากมาย พืชพื้นล่างเป็นพวกหวาย ปาล์ม สมุนไพรต่าง ๆ จุดชมวิวผาแดง อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 1,500 เมตร ตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติน้ำตกยูงทอง ผาแดงเป็นหน้าผาหินทรายที่สูงชันมองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามเบื้องล่างได้กว้างไกล ใกล้กับผาแดงมีหลืบถ้ำเล็ก ๆ ที่เคยเป็นที่วิปัสสนากรรมฐานของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทางเดินศึกษาธรรมชาติน้ำตกยูงทอง เป็นทางเดินเท้าเพื่อศึกษาธรรมชาติที่อุทยานฯ จัดทำขึ้นเพื่อสื่อความหมายธรรมชาติแก่ผู้มาเยือน โดยได้จัดสื่อบรรยายลักษณะทางธรรมชาติตามเส้นทางเป็นระยะ ผ่านน้ำตกยูงทอง น้ำตกตาดน้อย จุดชมวิวผาแดง ระยะทางประมาณ 2,000 เมตร ค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยานแห่งชาติ - ผู้ใหญ่ คนละ 20-80 บาท (ขึ้นอยู่กับอุทยานฯ ) - เด็ก คนละ 10-40 บาท (ขึ้นอยู่กับอุทยานฯ ) - กรณีเป็นเด็กอายุต้องต่ำกว่า 14 ปี แต่ถ้าอายุต่ำกว่า 3 ปี จักไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม หมายเหตุ: กรณีเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ให้เก็บค่าธรรมเนียมในอัตราสำหรับเด็ก สอบถามข้อมูล ได้ที่สำนักงานอุดรธานี โทร. 0 4232 5406-7

อำเภอน้ำโสม | เชิงวัฒนธรรม

ศาลหลักเมืองปู่โสม

ศาลปู่โสม สร้างขึ้น ประมาณปี พ.ศ.2510 – 2512 เดิมทีเรียก ศาลปู่โสม สร้างจากความเชื่อชาวบ้านในขณะนั้น เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยการนำของ นายกฤษดินทร์  แชงบุญเรือง ปลัดอำเภอผู้ทำหน้าที่หัวหน้ากิ่งอำเภอ ตั้งบริเวณกลางทุ่งนาของนายดา  ศรีมงคล  ปี พ.ศ.2523 – 2526 นายบันลือศักดิ์  อุดมอริยะทรัพย์ นายอำเภอน้ำโสม ในขณะนั้นจึงได้รวบรวมกำลังทรัพย์ และศรัทธาจากชาวอำเภอน้ำโสม ก่อสร้างศาลหลักเมือง ขึ้นใหม่ เป็นลักษณะหลังคาทรงไทย 4 มุข โดยใช้ไม้มะขามจากตำบลบ้านหยวกเป็นเสาหลักเมือง และเชิญนายสมภาพ  ศรีวรขาน ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ในขณะนั้น มาเป็นประธานในพิธีเปิดศาลหลักเมืองอำเภอน้ำโสม เพื่อให้คนเคารพ สักการะ กราบไหว้บูชาเรื่อยมา

                ขณะเดียวกันมีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้น เมื่อมีคนที่อาศัยอยู่รอบ ๆ สระน้ำดังกล่าว มีอาการเหมือนเจ้าประทับทรง และเรียกตัวเองว่าปู่โสม และชาวบ้านต่างก็ฝันเห็นคนแก่ ๆ อยู่บ่อย ๆ และบอกว่าตัวเองคือปู่โสม จึงเกิดการเล่าขานต่อมา และเรียกชื่อปู่โสม เป็นปู่โสมตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

                ต่อมา ทั้งภาครัฐ และเอกชน พ่อค้า ประชาชน อำเภอน้ำโสม มีศรัทธาให้สร้างศาลหลักเมืองแทนหลังเก่ามีลักษณะเหมือนเก๋งจีน ตั้งตระหง่านอยู่กลางสระน้ำศรีมงคล เป็นที่เคารพ สักการะของพ่อค้า ประชาชน ทั้งชาวไทย และไทยจีน เพื่อขอพรและความสำเร็จในหน้าที่การงาน ธุรกิจ การค้าขายทุกประการ และได้มีงานสมโภชศาลหลักเมืองในช่วงเดือน พฤศจิกายน เป็นประจำทุกปี

 

อำเภอหนองวัวซอ | เชิงวัฒนธรรม

วัดบุญญานุสรณ์ มีแนวคิดที่จะดำเนินการ  ก่อสร้างพระเจดีย์อัตตะสันโต เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศอินเดียและอัฐิธาตุ หลวงพ่อคำแพง อัตตสันโต
ควรค่าแก่การสักการะบูชา เพื่อจะได้เป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป ให้ชนรุ่นหลังได้กราบสักการะบูชา จะได้เป็นการเพิ่มกองบุญกองกุศลเพื่อสวรรค์ พรหม และพระ
นิพพานตลอดไป เพื่อที่บวรพระพุทธศาสนาจะได้ดำรงถึง 5,000 ปี 

 

 

อำเภอหนองวัวซอ | เชิงวัฒนธรรม

วัดเขาช่องชาด อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี

วัดเขาช่องชาด ตั้งบ้านหนองบัวเงิน หมู่ที่ 8 ตำบลอูบมุง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี บริเวณสันเขาภูพานคำ เขตอุทยานแห่งชาติภูเก้าภูพานคำ เขตอำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี อยู่ทางทิศใต้ ของอำเภอหนองวัวซอ ห่างจากเทศบาลตำบลอูบมุง 6 กม. สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ ป่าไม้เบญจพรรณ อาทิ ป่าไผ่ ประดู่ มะค่าโมง แดง ยาง ต้นชาดและกล้วยไม้ มีสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น ไก่ป่า กระรอก กระแต นก ค้างคาว งู สุนัขป่า

ลักษณะเด่น

- ไหว้พระ "พระใหญ่เขาช่องชาด" - ทิวทัศน์เขาช่องชาติ มีทัศนียภาพงดงาม เป็นกันชนเขตแดนระหว่างจังหวัดอุดรธานี กับ จังหวัดหนองบัวลำภู สามารถมองเห็นภาพธรรมชาติภายในพื้นที่อำเภอหนองวัวซอได้เกือบทั้งหมด ทางฝั่งตะวันออก ส่วนอีกฟากทางด้านตะวันตกสามารถมองเห็นอำเภอโนนสัง อำเภอเมืองจังหวัดหนองบัวลำภูได้อย่างชัดเจนและสามารถมองเห็นภูเก้าได้อย่างชัดและสวยงามอีกด้วย ทิศใต้มองเห็นเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก สมารถมองเห็นทัศนียภาพอันงดงาม ของอำเภอหนองวัวซอได้อย่างชัดเจนและมีความสวยงาม สภาพเทือกเขาเขียว ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มองเห็นเจดีย์วัดดอยบันไดสวรรค์ สภาพภูมิประเทศของอำเภอหนองวัวซอ อาทิ ตำบลอูบมุง ตำบลกุดหมากไฟ ตำบลโนนหวาย และตำบลหนองอ้อ

วัดเขาช่องชาด เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2520 เป็นสำนักสงฆ์ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน คือ พระอาจารย์บุญมี ฐานะจาโร ตั้งแต่ปี 2545-ปัจจุบัน พระใหญ่เขาช่องชาด เริ่มก่อสร้างพระใหญ่เขาช่องชาด มีการวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2549 งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้าง 10 ล้านบาท

อำเภอทุ่งฝน | เชิงวัฒนธรรม

วัดสีดาราม ที่นี่เป็นที่ประดิษฐานของ ปู่ศรีสุทโธ พญานาคเก้าเศียร ที่มีลำตัวยาวกว่า 131 เมตร เลื้อยพาดผ่านบ่อน้ำขนาดใหญ่ จากเกาะหอปู่เกาะมาจนถึงฝั่งวัด เป็นภาพที่ดูมีมนต์ขลังและน่าเกรงขามเป็นอย่างมากราวกับองค์พญานาคนั้นมีชีวิตจริงๆ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวตามรอยพญานาคที่สวยงาม และน่ามาเยี่ยมชม หากใครมีโอกาสมาเที่ยวอุดรธานีลองแวะมาสักการะกัน ตั้งอยู่ที่บ้านคำสีดา ตำบลนาชุมแสง อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี

อำเภอทุ่งฝน | เชิงวัฒนธรรม

วัดโพธิ์ศรีทุ่ง ตั้งอยู่บ้านทุ่งฝน หมู่ที่ ๘ ตำบลทุ่งฝน อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรานี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๗ ไร่ ๘๐ ตารางวา นส.๓ เลขที่ ๒๐๙๑ อาณาเขตทิศเหนือประมาณ ๓ เส้นจดบ้านราษฎร ทิศใต้ประมาณ ๓ เส้น จดบ้านราษฎร ทิศตะวันออกประมาณ ๒ เส้น ๘ วา จดถนนสาธารณะ ทิศตะวันตกประมาณ ๒ เส้น ๘ วา จดถนนสาธารณะ มีพื้นที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๑ แปลง เนื้อที่ ๑ งาน ๑๒ ตารางวา น.ส.๓ เลขที่ ๒๒๙๙ อาคารเสนาสนะประกอบด้วยศาลาการเปรียญเป็นอาคารไม้ พื้นปูนสร้าง พ.ศ. ๒๕๗๖ กุฎิสงฆ์ ๕ หลัง และอุโบสถที่มีการบูรณะขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๙๑ ปูชนียวัตถุมีพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์สมัยขอม เจดีย์(ธาตุ) สมัยโบราณ ว่อมครั้งแรก พ.ศ ๒๔๖๐ และเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ ซ่อมเทคอนกรีตเสริมเหล็กต่อยอดฉัตร และลวดลาย และกู่ (กง) เดิมเป็นศิลาแลง บูรณะโดยสมัยเจ้าอธิการทองจันทร์ โดยฉาบปูนตกแต่งลวดลาย

วัดโพธิ์ศรีทุ่ง สร้างเมื่อ พ.ศ ๒๔๐๐ เดิมชื่อวัดโพธิ์ศรี เนื่องจากในตำบลเดียวกันมีวัดโพธิ์ศรี ๒ วัด ทางการจึงเติมคำว่าทุ่งซึ่งนำมาจากบ้านทุ่งฝนต่อท้าย วัดนี้เดิมเป็นวัดร้างโบราณ เมื่อชาวบ้านอพยพจากบ้านเหมือด โดยการนำของหลวงโคตร ต้นตระกูลสมบัติกำไร และขุนราด ต้นตระกูลคำเรียงตา มาสร้างหมู่บ้าน และบูรณะวัดร้างขึ้น เป็นวัดมีพระสงฆ์ และมีการพัฒนามาถึงปัจจุบัน ได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๙๒ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๖๐ เมตร การบริหารและการปกครอง ปัจจุบันเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีทุ่ง ชื่อ พระปริยัติโพธิพิทักษ์ และดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะอำเภอทุ่งฝน

อำเภอบ้านดุง | เชิงชุมชน

แหล่งทำนาเกลือบ้านดุง คำกล่าวที่ว่า จงรักษาความดีดั่งเกลือรักษาความเค็ม เคยได้ยินคนเก่าแก่บอกเล่าและใช้กันมานานและก็ยังสามารถใช้ได้อยู่ เกลือมีแหล่งผลิตและที่มากันมากมายหลายแหล่งผลิต ไม่ว่า จะเป็นเกลือสมุทร (เกลือที่ได้จากการกลายเป็นไอของน้ำทะเล ใช้ในการทำอาหารและเครื่องสำอางมักมีราคาแพงกว่าเกลือแกง) หรือเกลือสินเธาว์ (เกลือชนิดหนึ่งที่ได้จากหินเกลือ หรือ ดินเค็ม ดินโป่ง เกลือสินเธาว์ เป็นเกลือที่พบบนบก และพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย) และมีความแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของเกลือ แต่สำคัญยังไงก็มีความเค็ม ซึ่งวันนี้จึงอยากจะนำมาให้รู้จักกับเกลือบ้านดุงเกลือบ้านดุงขึ้นชื่อว่าเป็นเกลือที่มีคุณภาพและมีรสชาติดีกว่าเกลือทะเลเพราะไม่มีซัลเฟตมาก สามารถผลิตเป็นเกลือไอโอดีนได้ ที่สำคัญเกลือต้มของอำเภอบ้านดุง ทำมาจากน้ำเค็มปนหวานจะไม่มีรสขม นักท่องเที่ยวที่มีโอกาสไปเคารพสักการะปู่คำชะโนดต่างพากันซื้อเกลือบ้านดุงกลับบ้านและเป็นของฝาก เกลือคุณประโยชน์ของเกลือมีหลายประการ เช่นการดองผัก ดองผลไม้ ล้างผักฆ่าเชื้อโรค ถนอมอาหารตากแห้ง ดับกลิ่นเหม็นคาว เป็นส่วนผสมของอาหารมากมาย และเป็นส่วนผสมการทำปุ๋ยเคมี สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ผงซักฟอก ครีมนวด เป็นต้น 

อำเภอบ้านดุง | เชิงวัฒนธรรม

วัดป่าคำเจริญ เป็นวัดที่สวยงาม โบสถ์เด่นสง่า จะมีสระอยู่ที่บันได ให้เหมือนกับทางขึ้นจากบึงบาดาล ใครจะเเวะมาเที่ยวคำชะโนด สามารถแวะเที่ยวที่นี่ก่อนได้ครับ ทางเดียวกับทางไปคำชะโนดแต่ถึงก่อนเลี้ยวขวา มีป้ายบอกทางอยู่ วัดป่าแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เนื้อที่จำนวน 100 ไร่ ได้ทำเป็นศูนย์เรียนรู้ธรรมะ ตามแนวทางพระศาสดา โดยมีกิจกรรมเข้าค่ายธรรมะ และบวชสามเณรภาคฤดูร้อนเป็นประจำทุกๆปี

อำเภอบ้านดุง | เชิงวัฒนธรรม

วัดป่าบ้านเหล่าหลวง
วัดป่าสายปฎิบัติธรรมคนทั่วไป
อาจจะไม่คุ้นเป็นที่สถิตย์ของ
องปู่ศรีสุทโธและเจ้าย่า
นอกจากนัั้นยังมีพญานาคราช
สถิตย์ที่นี่อีก 2 ตน

อำเภอบ้านดุง | เชิงวัฒนธรรม

ป่าคำชะโนด หรือ เมืองชะโนด หรือ วังนาคินทร์คำชะโนด เป็นผืนกอวัชพืช (floating mat) ขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ เกิดจากการทับถมและผสานตัวของซากวัชพืชน้ำจำนวนมากเป็นระยะเวลายาวนาน จนก่อกำเนิดคล้ายกับเป็นผืนแผ่นดินลอยตัวในรูปแบบเกาะกลางอ่างเก็บน้ำกุดขาม ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงฤดูฝนในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง อ่างเก็บน้ำกุดมีปริมาณน้ำสูงขึ้น ป่าคำชะโนดจึงไม่จมน้ำที่ตามระดับน้ำที่สูงขึ้น หรือเมื่อระดับน้ำลดลง ป่าคำชะโนดก็มีการปรับสภาพไปตามระดับน้ำ ภายในป่าคำชะโนดมีพรรณไม้เด่นคือต้นชะโนด ซึ่งเป็นพืชจำพวกปาล์ม มีความสูงกว่า 30 เมตร

ป่าคำชะโนด ตั้งอยู่ในพื้นที่ 3 ตำบล คือ ตำบลวังทอง, ตำบลบ้านม่วง และตำบลบ้านจันทร์ ใน อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ป่าแห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญ ที่ปรากฏในตำนานพื้นบ้านอีสาน ประชาชนในพื้นที่เชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของพญานาค ปู่ศรีสุทโธ ย่าศรีประทุมมา และสิ่งลี้ลับต่าง ๆ บ่อยครั้งที่ชาวบ้านในละแวกนั้นจะพบเห็นชาวเมืองชะโนดไปเที่ยวงานบุญพระเวสสันดร รวมถึงหญิงสาวที่มายืมเครื่องมือทอผ้าอยู่เป็นประจำ

ป่าคำชะโนด แม้จะเป็นผืนแผ่นดินลอยตัวจากกอวัชพืช ทำให้มีการลอยตัวไปตามพลวัตของน้ำ แต่ป่าแห่งนี้ก็เคยเกิดน้ำท่วม โดยเคยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2516 พ.ศ. 2538 พ.ศ. 2559 และ พ.ศ. 2560 ทั้งนี้เชื่อว่าเกิดจากการที่มีการก่อสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ มากขึ้นกว่าเดิมในอดีต จึงทำให้พื้นที่ของเกาะซึ่งลอยน้ำอยู่นั้นมีความหนัก เป็นสาเหตุที่ทำให้ผืนกอวัชพืชบางส่วนจมน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกลางปี พ.ศ. 2560 ที่ต้องมีการปิดเกาะแห่งนี้เป็นการชั่วคราว

อำเภอพิบูลย์รักษ์ | เชิงวัฒนธรรม

วัดพระแท่นบ้านแดง (วัดหลวงปู่พิบูลย์) เป็นวัดที่มีชื่อเสียง สวยงาม และกว้างขวางที่สุดในตำบลบ้านแดง มีอายุกว่า ๒๐๐ ปี

ลักษณะเด่น รูปปั้นหลวงปู่พิบูลย์ ที่สร้างมายิ่งใหญ่อลังการ มีความวิจิตรการตามาก

ประวัติ 
วัดพระแท่นบ้านแดง ที่ได้ชื่อวัด “พระแท่น" ก็เพราะอาศัยแท่นพระเก่า แต่ไม่มีพระพุทธรูปอยู่หลวงปู่จึงตั้งชื่อว่าวัดพระแท่น"วัดพระแท่น" ให้สมกับนามเดิมของแท่นพระเก่า พอหลวงปู่มาสร้างวัดแล้ว ชาวบ้านไทก็ได้อพยพย้ายบ้านเรือนทั้ง ๓๐ หลังคาเรือนมาอยู่ บริเวณรอบๆวัดและตั้งชื่อว่า “คุ้มใต้วัด" และ “คุ้มหัววัด”ชาวบ้านที่อยู่ต่างจังหวัดได้ยินชื่อของหลวงปู่จึงพากันอพยพมาอยู่มากยิ่งขึ้น ทางทิศเหนือของวัดติดกับบ้านไทเดิมมีหนองน้ำแห่งหนึ่ง เรียกว่า “กุดบ้าน” แต่ก่อนหนองน้ำแห่งนี้เคยมีข้าศึก และ คู่อริกันได้มาต่อสู้กันด้วยหอกดาบ พอเลิกต่อสู้กันแล้วต่างคนต่างลงอาบน้ำล้างเลือดทำให้หนองน้ำนี้เป็นสีแดงเต็มไปด้วยเลือดหลวงปู่ จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า..บ้านแดง" และที่มาของชื่อหมูบ้านอีกอย่างหนึ่งคือตอนที่หลวงปู่มาตั้งวัดครั้งแรกที่บริเวณแห่งนี้เต็มไปด้วยดอกไม้สีแดงและต้นไม้แดงขนาดใหญ่อยู่ในวัด จึงได้อาศัยตำนานหนองน้ำแดง ดอกไม้แดงและป่าไม้แดง เป็นที่มาที่หลวงปู่ตั้งชื่อบ้านแห่งนี้ว่า “บ้านแดงใหญ่” ความเป็นอยู่ของชาวบ้านแดงในสมัยนั้นอยู่กันอย่างมีความสุข และก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วย ปู ปลา ไม่อดอยาก ไร่นาจับจองเอาที่ไหนก็ได้ ต่อมาคนต่างหมู่บ้านและต่างจังหวัดก็หลั่งไหลกันเข้ามาอาศัยบารมีของหลวงปู่มากันทุกวัน หลวงปู่จึงมีนโยบายแนวทางพัฒนาแผนใหม่ จึงได้วางผังหมู่บ้านและสถานที่ที่จะตั้งเมืองในอนาคตข้างหน้า จึงเริ่มตัดถนนหนทาง ถนนสายใหญ่ๆ ทั้งหมดก็มี ๘ สาย นอกจากนี้ได้ตัดถนนตรอกซอยจำนวนมาก เมื่อคนเข้าไปอยู่เต็มในแต่ละแปลงก็ตั้งคุ้มๆ หลวงปู่บอกว่าไม่ให้มีการซื้อขายที่ดินให้แบ่งปันกันอยู่ ในแต่ละคุ้มจะมีศาลาหนึ่งหลัง และมีหัวหน้าประจำคุมนั้น ๆ ที่ตรงไหนเป็นทุ่งไร่ทุ่งนาอยู่แล้ว หลวงปู่ก็จะซื้อเอาไว้ แต่ราคาต้องไม่เกิน ๖๐ บาท และหลวงปู่ได้หมายขอบเขตของหมู่บ้านเอาไว้ โดยใช้ไม้แดงขนาดใหญ่ฝังไว้เป็นจุด ๆ โดยรอบอาณาเขตที่บอกว่าจะเป็นเมือง หลวงปู่ปักหลักไว้ว่าตรงไหนจะเป็นของ หน่วยงานใด เช่น ตรงนี้เป็นของโรงเรียนประถม โรงเรียนมัธยม ที่ว่าการอำเภอ ไฟฟ้า อนามัย โรง พยาบาล เป็นตน เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหาในภายหลัง ข้อนี้บอกได้เลยว่าหลวงปู่มองการณ์ไกล อย่างแน่นอน เมื่อผู้คนอพยพเข้ามาอยู่มากขึ้นหลวงปู่จึงนำชาวบ้านสร้างศาลา และกุฏิทางด้านทิศ ตะวันออกของวัด ในการสร้างนั้นตอนกลางคืนก็ให้พวกหนุ่มๆสาวๆที่มีกำลังแข็งแรงดีไปช่วยกัน ลากไม้โดยใช้รถขิ่งล้อ(รถที่มีล้อสำหรับลากไม้ ทำขึ้นมาจากไม้)พอไปตัดไม้ได้ก็เอาขึ้นรถเที่ยวละ ๓-๔ ท่อน ขนาดของไม้แต่ละท่อนยาวประมาณ ๘-๑๐ เมตร ในการลากก็เอาริ้วหนังผูกกับรถ แล้วช่วยกันลาก เสียงของรถไม้เสียดสีกันในตอนลากนั้นดังสนันหวั่นไหวไปทั้งป่าแถบนั้น และตอนที่ริ้วหนังที่ใช้ลากขาด หนุ่มสาวที่ช่วยกันลากไม้ล้มทับกันระเนระนาด ทำให้หนุ่มสาวได้รับความสนุกสนาน ผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยได้ไม่น้อยทีเดียว ทำอย่างนั้นเรื่อยมาทุกวันทุกคืน หากคืนไหนไม่ได้ไปลากไม้ชาวบ้านก็พากันออกไปตัดถนนตามถนนสายต่าง ๆ และบางพวกก็ช่วยกันเลื่อยไม้ที่ขนมาแล้ว จากการที่ชาวบ้านจากที่ อื่น ๆ ย้ายมาอยู่กันมากขึ้น หลวงปู่จึงตั้งธนาคาร ข้าวเปลือก และธนาคารโคกระมือเพื่อเจกจ่ายให้กับคนยากคนจน และมีผู้หญิงบางกลุ่มมาขอบวชชี (นุงขาวห่มขาว) รับอาสาทำอาหารเลี้ยงคนงาน ผู้ที่มาบวชชีจึงมีเป็นรายๆ
 



อำเภอพิบูลย์รักษ์ | เชิงวัฒนธรรม

วัดป่าสว่างธรรม เป็นวัดสร้างขึ้นใหม่ บริเวณภายในวัดมีความสวยงาม ชาวบ้านแห่แหนกัยเข้ามาชม เข้ามากราบสักการะ ขอพรปู่ศรีสุทโธ
 

ลักษณะเด่น วัดวัดกลางน้ำ พร้อมรูปปั้นของหลวงปู่ศรีสุทโธ พระพุทธรูปนาคปรค


วัดป่าสว่างธรรม ตั้งอยู่ บ้านดอนกลอย อำเภอพิบูลย์รักษ์ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นวัดที่ศิริพรได้สร้างพระประธาน และรูปปั้นพญานาคราช โดยพระประธานตั้งอยู่กลางน้ำลายล้อมด้วยพญานาคราชที่เกี้ยวพันไปจนถึงท่าน้ำ เรียกกกันว่า เป็นทางลงวังบาดาล ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ศิริพรมีความเชื่อเรื่องพญานาคเป็นอย่างมาก ทั้งยังสัมผัสได้ถึงความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นระหว่างศิริพรกับ “ปู่ศรีสุทโธ” แห่งคำชะโนด มีหลายเหตุการณ์ในชีวิตที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องเงิน โดยเฉพาะเรื่องโชคลาภที่เป็นที่ฮือฮามากเพราะศิริพรถูกหวยติดต่อกันมากกว่า 200 งวดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้แต่บ้านของศิริพรที่ตั้งอยู่ใกล้กับวัดสว่างธรรมก็มักจะมีลอยเลื้อยขนาดใหญ่ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆ ล่าสุดศิริพรได้เดินทางไปบวชชีที่วัดป่าสว่างธรรมเพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนจะจัดงานบวชพระ 100 รูปถวายเป็นพระราชกุศลในหลวงรัชกาลที่ ๙ และพญานาคราช ภายในงานได้มีการเลี้ยงพระและรำถวายรอบพระประธานมีชาวบ้านมาร่วมงานเกือบ 500 คน แล้วจู่ๆ ก็เกิดเหตุการณ์ฝนตกหนัก และปรากฏร่างลักษณะคล้ายงูขนาดใหญ่เคลื่อนไหวในแม่น้ำ เลื้อยผ่านสายน้ำเป็นทางยาว ซึ่งทุกคนต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “พญานาคราช” และก็ยกมือท่วมหัวเสียงสาธุดังสนั่นวัด เรื่องนี้เป็นที่ฮือฮาไปทั่วหมู่บ้าน เชื่อว่าการปรากฏของพญานาคราชน่าจะมาอนุโมทนาบุญในการบวชของศิริพรในครั้งนี้ รวมถึงรับรู้ถึงการที่ศิริพรทำนุบำรุงศาสนาในการสร้างพระและเตรียมจะบวชพระในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งศิริพรก็ได้เปิดเผยถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ยอมรับเต็มปากอย่างมั่นใจว่าสิ่งที่ทุกคนเห็นนั่นคือ องค์พญานาคราช “วัดป่าสว่างธรรมเป็นวัดบ้านเกิด วัดนี้เราและพระอาจารย์นำชัย วัดแม่ย่าซอม จังหวัดสระแก้ว ท่านเมตตาร่วมกันสร้างพระและบรูณะ ถ้าว่างจากงานคอนเสิร์ตก็จะมากลับมาที่วัดเพื่อมาดูว่าช่างทำถึงไหนแล้ว ก็ได้แฟนคลับและผู้ที่มีศรัทธาในพุทธศาสนาและปู่ศรีสุทโธร่วมปัจจัยกันสร้าง วันนั้นที่มาบวชเราก็นั่งอยู่ในศาลาและอยู่ดีๆ ฝนก็ตกหนัก มองไปที่น้ำเห็นอะไรแปลกประหลาดเป็นสีเขียวๆ ดำๆ เหลืองๆ ขนาดเท่ากับองค์ปู่ที่สร้างเลย” “ก็เลยตะโกนบอกหลวงพ่อ ตะโกนบอกพี่น้อง พี่สาวว่านี่อะไร(ยกมือสาธุ) ทุกคนก็มาดู และไม่น่าเชื่อมันมหัศจรรย์มากท่านสามารถแยกสายฝนออกจากร่างท่านได้ทำให้เราเห็นร่างชัดมาก ท่านเลื้อยไปจะเป็นเกล็ดแบบทั้งเขียวทั้งเหลืองทั้งดำท่านขึ้นมาเป็นร่างเลยและก็เป็นเศียรปู่เลื้อยไปตามน้ำ คิดว่าท่านน่าจะอนุโมทนาบุญ หลวงปู่แถวเจ้าอาวาสวัดก็เห็น เป็นบุญตามากๆ” “เมื่อก่อนก็ไม่ได้เชื่อสนิทใจ แต่มันต้องเจอกับตัวเองถึงจะเชื่อ เมื่อก่อนเราไม่มีเสียงที่จะไปร้องเพลง อัดเสียงไม่ได้ จนทำมาหากินไม่ได้ ก็ไปขอท่านทำให้มีเสียง และจากนั้นก็มีอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เรามีความเชื่อความศรัทธา ที่พูดนี่ไม่ได้พูดให้เชื่อนะ ใครไม่เชื่อไม่เป็นไร แต่เราเจอกับตัวเองเห็นแล้วเห็นจริงๆ และไม่ได้เห็นแค่คนเดียว” สำหรับวัดป่าสว่างธรรม นั้นตั้งอยู่ บ้านดอนกลอย อำเภอพิบูลย์รักษ์ จังหวัดอุดรธานี ห่างจากคำชะโนด 50 กิโลเมตร ขณะนี้มีผู้คนเดินทางมาร่วมสักการะบูชาเป็นจำนวนมากขึ้นทุกๆ วัน หลังจากที่มีข่าวว่าศิริพรได้มาบรูณะวัดสร้างพระประธานและองค์พญานาคราช เพราะมีความโชคดีในเรื่องการงาน การเงิน รวมไปถึงโชคลาภที่ถูกหวยอย่างต่อเนื่องมากกว่า 200 ครั้ง และคาดว่าในวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2560 ที่จะมีการจัดงานบวชพระ 100 รูปนั้นจะมีประชาชนเดินทางมาร่วมงานนับหมื่นคนเลยทีเดียว

อำเภอเพ็ญ | เชิงวัฒนธรรม

วัดนิมิตโพธิญาณ  ตั้งอยู่ที่บ้านโนนยางพัฒนา หมู่ที่ 17 ตำบลเพ็ญ อำเภอเพ็ญ จังหวัคอุดรธานี บนเนื้อที่ 36 ไร่ 46 ตารางวา มีการก่อสร้างวัดประมาณ ปี พ.ศ. 2480 ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ บ้านโพนงาม หมู่ที่ 4 ปัจจุบันเป็นบ้านโนนยางพัฒนา หมู่ที่ 17 (แยกมาจากบ้านโพนงาม)  

เมื่อแรกบ้านโพนงาม หมู่ที่ 4 ตำบลเพ็ญ ชาวบ้านในสมัยนั้นได้ร่วมกันตั้งวัดไว้ด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านชื่อ "วัดบัวกกคู้" กาลต่อมามีชาวบ้านในหมู่บ้านล้มตายอย่างผิดปกติรวม 2 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่ 2 มีการล้มตายแบบผิดปกติมากกว่าครั้งที่ 1 ชาวบ้านจึงเชื่อว่าอาจเป็นเพราะมีการสร้างวัดไว้ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน จึงพร้อมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันย้ายวัดไปสร้างใหม่ไว้ที่ด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ชื่อว่า "วัดโพนทอง" วัดนี้เป็นวัดคู่บ้านโพนงามปรากฏมาราบจนปัจจุบัน ส่วนบริเวณวัดบัวกกคู้ สถานที่นั้นก็ถูกทิ้งร้างเรื่อยมา โดยปรากฎหลักฐานบริเวณที่มีการสร้างวัดซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "โนนหญ้าคา" อันเป็นบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านโพนงาม ในช่วงแรกจวบจนเมื่อประมาณก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มมีคณะสงฆ์สายวิปัสสนากรรมฐานได้ใช้เส้นทางผ่านาทางอำเภอเพ็ญ ผ่านสถานที่แห่งนี้เพื่อเดินธุดงค์จากทางอีส่านใต้เพื่อไปปฏิบัติธรรมที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย รวมถึงการธุดงค์ต่อไปยังประเทศลาวด้วย ได้ใช้สถานที่นี้สร้างวัดและปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นที่พักระหว่างการธุดงค์ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีต้นไม้หลายชนิดและร่มรื่นด้วยต้นไม่ใหญ่ เช่น ต้นยางนา ไม้พยุง ไม้เต็ง เป็นต้น ต่อมาวัดได้รกร้างไปอีกหลายปี จวบจนเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2510 จึงมีพระสงฆ์มาอยู่จำพรรษาต่อเนื่อง มีศาลาการเปรียญ กูฏิ และเสนาสนะที่ถาวร เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาจนปัจจุบัน และสันนิษฐานว่าบริเวณที่เป็นวัดนิมิตโพธิญาณนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัดบัวกกคู้ในอดีต แม้ปัจจุบันจะมีการสร้างถนนผ่านบริเวณที่ต้นยางใหญ่ขึ้นอยู่ทำให้แยกพื้นที่ออกเป็นส่วนหนึ่งก็ตาม
สำหรับรายนามพระภิกษุที่เคยมาจำพรรษาที่วัดและเจ้าอาวมาสตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ถึงปัจจุบัน  ประกอบด้วย หลวงปู่คำ  ปี พ.ศ.2510 , หลวงปู่ลาย ปี พ.ศ.2517-2525  , หลวงปู่เสือ ปี พ.ศ. 2525-2530  ,  หลวงปู่รวย ปี พ.ศ.2530-2533 และพระครูใบฎีกากฤษณ์ กิติญาโน (พระอาจารย์ตุ๋ย ) ปี พ.ศ.2536 – ปัจจุบัน

อำเภอเพ็ญ | เชิงวัฒนธรรม

พระธาตุนางเพ็ญ ตั้งอยู่ที่ บ้านเกาะแก้ว ม.7 ตำบลเพ็ญ อำเภอเพ็ญ
ประวัติย่อของพระนางเพ็ญ    
     เมืองเพ็ญนี้เป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่งพร้อมกับเมืองหนองคาย เมืองบาง เมืองภูเงิน (หนองบัวลำภู ในปัจจุบัน) เมืองหนองหาน เมืองประโค เมืองเวียงคุก เมืองเหล่านี้มีเจ้าปกครอง (สมัยขอมอพยพออกจากแดนไทยประมาณ 270 ปี) เมืองเพ็ญแต่เดิมชื่อเมืองหนองเป็ดโพธิ์เวียง ซึ่งตรงต่อหนองคาย ประชากรได้รับความร่มเย็นเป็นสุขจากเจ้าปกครองในปีเถาะ เดือนห้า วันเพ็ญ พระนางจันทรา มเหสีได้คลอดบุตรเป็นหญิงมีรูปร่างสวยงามประดุจพระจันทร์วันเพ็ญ จะหาธิดาเมืองใดจะงามเทียบเท่า พระบิดา มารดาจัดประทานนามให้บุตรตนว่า “ นางเพ็ญ ” และได้ให้ความรักเอ็นดูเอาอกเอาใจจนนางเพ็ญอายุได้ 19 ปี เมื่อ เมื่อนางเพ็ญเติบโตเป็นสาวก็ยิ่งงดงามยิ่งขึ้น ใครเห็นก็มองไม่อิ่มจนเล่าลือไปถึงเมืองต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงต่างก็มาชม เมื่อเห็นนางเพ็ญงามมากจึงอยากได้เป็นลูกสะใภ้ อยากได้เป็นภรรยา ในปีถัดมาสามหัวเมืองจะมาสู่ขอนางเพ็ญ คือ เมืองฝายเหนือ(เมืองบาง) โดยเจ้าชายขัดติยะราช เป็นผู้มีปรีชาสามารถมีรูปโฉมงดงามเป็นที่รักใคร่นับถือของประชาชน เป็นผู้ช่วยว่าราชการแทนบิดา หัวเมืองทางตะวันออกคืออันทะปัตถานคร (อำเภอหนองหานในปัจจุบัน)  มีบุตรชื่อเจ้าชายเชียงงาม และฝ่ายเมือง ภูเงินโดยท้าวไชยะเสนะได้จัดแจงเครื่องบรรณาการมาสู่ขอนางเพ็ญ เป็นเหตุให้พระวรปิตตายุ่งยากใจมาก เจ้าเมืองทั้ง 3 ได้ยกกองทัพมาล้อมหนองเป็ดโพธิ์เวียงไว้ ถ้าจะตกลงรับหมั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็เกรงอีกสองเมืองจะทำสงครามแย่งชิงนางเพ็ญให้ได้ พระวรปิตตาได้ปรึกษาหารือดูว่าจะเอาเมืองใดเป็นลูกเขย พระนางจันทรามเหสีจึงลงความเห็นว่าเมืองใดมีอำนาจมากก็เลือกเมืองนั้น ส่วนนาเพ็ญผู้เป็นธิดาไม่เห็นด้วย ถ้านางเพ็ญเป็นภรรยาของอีกฝ่ายหนึ่ง สองเมืองก็จะยกทัพเข้าโจมตีเป็นที่เดือดร้อนแก่ไพร่ฟ้าประชาชนต้องล้มตายลงเป็นจำนวนมาก พระนางจึงขอยอมพลีชีวิตของนางเองแต่ผู้เดียวดีกว่าทำให้ผู้อื่นต้องเสียชีวิตแทนตน จึงไม่ยอมแต่งงานกับใคร เมื่อคิดเช่นนั้น นางจึงอ้อนวอนบิดามารดาสร้างธาตุนี้ขึ้น ลูกหนึ่งตรงหน้าบ้านก่อด้วยอิฐเสริมปูน ประมาณ 5 เมตร วัดฐานโดยรอบ 18 เมตร ให้มีโพรงข้างใน ปิดประตูธาตุนี้ไว้ สร้างขึ้นเมื่อวันศุกร์  ปีมะแม เดือนสี่ พ.ศ. เท่าไหร่ตำนานไม่บอกไว้ เสร็จในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 7 พระนางก็กราบลาบิดามารดา ประชาชนพลเมืองเข้าพิธีกรรมในโพรงธาตุเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน เมื่อพระนางเพ็ญเข้าธาตุก็ไม่ยอมโผล่หน้ามาให้ใครเห็น เจ้าชายทั้ง 3 ก็มารวมกันที่ริมฝั่งน้ำตรงหน้าธาตุ มีการตีฆ้องร้องป่าวให้มีเสียงอึกทึกครึกโครมพอครบ 7 วัน พระนางเพ็ญก็ให้บิดามารดาก่ออิฐเสริมปูนอัดประตูธาตุในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ปีมะแม
     ดังนั้นในวันนี้ของทุกปีชาวบ้านเพ็ญจึงพร้อมกันจัดทำบุญบ้องไฟจุดเพื่อเป็นการบูชาดวงวิญญาณของ พระนางเพ็ญ ให้ได้สู่สรวงสวรรค์เหมือนกับบ้องไฟที่จุดแล้วลอยขึ้นฟ้าเป็นงานเทศกาลประจำปีของเราตลอดมาทุกวันนี้ เพื่อปวงสรวงดวงวิญญาณของพระนางเพ็ญที่มีจิตใจเด็ดเดี่ยวยอมพลีชีวิตของตนผู้เดียวป้องกันความ วิบัติขัดสนของประชาชน
     ปัจจุบันพระธาตุนางเพ็ญยังสถิตสถานอยู่ที่วัดเกาะแก้ว หมู่ที่ 11 ต.เพ็ญ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี ซึ่งได้รับการบูรณะองค์ธาตุเรื่อยมาเพื่อให้อยู่ในสภาพคงทนถาวร
  
**  เรียบเรียงจากประวัติอำเภอเพ็ญ  **
โดย นางสาวเกศณี นระมาตย์
6  กรกฎาคม 2546


อำเภอสร้างคอม | เชิงชุมชน

วิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองอำเภอสร้างคอม

อุดรธานี - ชูวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองบ้านโคก อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี ตัวอย่างเกษตรแปลงใหญ่ต้นแบบประสบผลสำเร็จ เผยใช้ตลาดนำการผลิต รวมกันปลูกส่งออกญี่ปุ่นและส่งขายร้านสะดวกซื้อ 11 จังหวัดอีสานตอนบนถึงวันละ 15,000 ลูก เล็งขยายพื้นที่ปลูกปีหน้าเป็น 500 ไร่


วิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองอำเภอสร้างคอม และได้รับการคัดเลือกให้เป็น ประธานวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทอง ซึ่งมีสมาชิก แรกเริ่ม จำนวน 7 คน ในช่วงที่ริเริ่มการทำเกษตร นายจักรินทร์ โพธิ์พรม ยังขาดความรู้และประสบการณ์ในการผลิต และยังมีปัญหาด้านการตลาด แต่นายจักรินทร์ โพธิ์พรม มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเอง และได้สมัครเข้ารับการอบรมในโครงการ Young Smart Farmer (YSF) และยังได้รับเลือกให้เป็นตำแหน่ง ประธาน Young
Smart Farmer (YSF) ของจังหวัดอุดรธานี

อำเภอสร้างคอม | เชิงธรรมชาติ

    อำเภอสร้างคอมเดิมเป็นที่รู้จักในชื่อ "บ้านส่างคอม" อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี คำว่า "ส้าง" หรือ "สร้าง"ในภาษาอีสาน ออกเสียงเป็น "ส่าง" แปลว่า บ่อน้ำ ส่วน "คอม" คือชื่อต้นไม้
ชนิดหนึ่ง เมื่อตอนสร้างหมู่บ้านประมาณปี พ.ศ. 2441 มีการขุดบ่อน้ำและต้นคอมก็ขึ้นอยู่ริมน้ำ ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าบ้านส่างคอม ต่อมาจึงปริวรรตวิธีสะกดชื่อไปสู่สำเนียงภาษากลางเป็นบ้านสร้างคอม
เคยเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี เป็นตำบลเก่าแก่ในจังหวัดอุดรธานี และปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการให้ใช้ชื่อตำบลบ้านสร้างคอม"  

อ่างเก็บน้ำพาน ตั้งอยู่ในอำเภอสร้างคอม ครอบคลุมพื้นที่มากถึง 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลสร้างคอม, ตำบลนาสะอาด และตำบลเชียงดา มีพื้นที่รวมกว่า 4,300 ไร่ ถือได้ว่าเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อีกแห่งของภาคอีสาน และภายในอ่างเก็บน้ำยังเป็นแหล่งอาศัยของปลาน้ำจืดหลากหลายชนิด รอบ ๆ ยังรายล้อมไปด้วยทัศนียภาพของป่าชุมชนที่สวยงาม กลายเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้าน และเป็นที่เที่ยวอุดรธานีที่นักท่องเที่ยวควรมาเช็กอินสักครั้ง

อำเภอหนองหาน | เชิงวัฒนธรรม

วัดสันติวนาราม หรือที่มีชื่อเรียกคือ วัดป่าดงไร่ ตั้งอยู่ที่ ตําบลบ้านเชียง อําเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นวัดที่มีพระอุโบสถกลางน้ำเป็นทรงดอกบัว และมีเพียงหนึ่งเดียวในไทยเท่านั้น โดยอุโบสถจะเป็นทรงดอกบัว 24 กลีบ พอเดินเข้าไปจะรู้สึกได้ถึงความสวยงามและความสงบร่มรื่น ซึ่งภาพ​วาดบนผนังดอกบัว จะเป็นรูปภาพเกี่ยวกับ​พุทธ​ประวัติที่สวยงาม

 พระอุโบสถดอกบัว นี้ จะมีขนาด 19 x 19 เมตร มีดอกบัว 24 กลีบ พญานาค 2 ตัว อยู่ด้านหน้า และมีสะพานทางเดินทอดยาวไปได้ถึงตัวอุโบสถ ที่สำคัญคืออยู่กลางหนองน้ำ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า หนองน้ำอีสานเขียว และมีปลาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก สามารถทำบุญโดยการให้อาหารปลาได้ด้วย

     พื้นที่ของ วัดสันติวนาราม จะอยู่บนพื้นที่กว่า 1,350 ไร่ อยู่ด้านเหนือของหมู่บ้านเชียง เป็นป่าไม้ธรรมชาติ 1,000 ไร่ เป็นหนองน้ำ 100 ไร่ ไว้สำหรับสร้างสถานที่ปลูกสร้างเสนาสนะต่างๆ และมีลานอเนกประสงค์ 130 ไร่ มีถนนลาดยางเข้าถึงวัดได้เลย ด้านหน้าจะล้อมด้วยกำแพงคอนกรีต ส่วนรอบๆ จะล้อมด้วยลวดหนาม 7 เส้น เสาปูนคอนกรีตเสริมเหล็ก มีทั้งสัตว์ป่าธรรมชาติ เช่น กวาง หมี นกนานาชนิด นกน้ำมากมายอาศัยอยู่โดยรอบ

อำเภอหนองหาน | เชิงวัฒนธรรม

หลุมขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีใน เป็นแหล่งโบราณคดี สถานที่ตั้งอยู่ภายในวัดโพธิ์ศรีใน ซึ่งอยู่ห่างจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง ไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 500 เมตร เป็นสถานที่สำคัญหนึ่งที่เก็บรักษาศิลปะเครื่องปั้นดินเผาของบ้านเชียงที่เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถไปเยี่ยมชมได้

ลักษณะเด่น

หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน เป็นพิพิธภัณฑ์เปิดแห่งแรกของประเทศไทย สร้างเป็นอาคารชั้นเดียวครอบหลุมขุดค้นที่จัดแสดงการขุดค้นชั้นดินในระดับต่าง ๆ ซึ่งพบว่ามีโครงกระดูกมนุษย์และภาชนะดินเผา แสดงให้เห็นถึงความเชื่อและวิธีการฝังศพของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อ 2,300–1,800 ปีมาแล้ว โดยโครงกระดูกมนุษย์จะหันศีรษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีเครื่องมือประเภทขวานและหอกเหล็กวางอยู่ ส่วนปลายเท้าของโครงกระดูกมีภาชนะดินเผาลายเขียนสีบรรจุเปลือกหอยน้ำจืดกระดูกสัตว์และยังพบร่องรอยแกลบข้าวติดอยู่ที่สนิมของเหล็ก ซึ่งต่อมาพิสูจน์ได้ว่ามีการเพาะปลูกข้าวในยุคสมัยนั้น

ประวัติ

นับตั้งแต่พุทธศักราช 2510 เป็นต้นมา กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียงหลายครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่ในบริเวณเนินดินด้านทิศตะวันออก หลักฐานทางโบราณคดีที่พบส่วนใหญ่ คือ หลุมฝังศพกว่า 400 หลุม เป็นโครงกระดูกของมนุษย์ฝังร่วมกับสิ่งของเครื่องใช้ วัดโพธิ์ศรีในเป็นพื้นที่ดำเนินงานที่สำคัญแห่งหนึ่ง เนื่องจากพบหลุมศพของมนุษย์เป็นจำนวนมาก กรมศิลปากรจึงอนุรักษ์ไว้ และจัดแสดงหลุมขุดค้นในลักษณะพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้ง มีการขุดค้นเพิ่มเติม และสร้างอาคารคลุม เมื่อพุทธศักราช 2535 กระทั่งเมื่อพุทธศักราช 2540 เกิดอุทกภัยน้ำซึมเข้าหลุมขุดค้นส่งผลให้โบราณวัตถุที่จัดแสดงได้รับความเสียหาย กรมศิลปากรจึงดำเนินการเก็บโบราณวัตถุมาทำการอนุรักษ์ในพุทธศักราช 2546 และได้ทำการจำลองหลุมขุดค้นในลักษณะเดิม เพื่อให้ประชาชนได้ชมร่องรอยการทำงานทางโบราณคดีเมื่อครั้งอดีต และโบราณวัตถุที่ผ่านการอนุรักษ์แล้วนั้นได้นำมาจัดแสดงไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง

 

อำเภอหนองหาน | เชิงวัฒนธรรม

แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง  ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันออกประมาณ 60 กิโลเมตร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตั้งอยู่บนเนินดินสูง รูปยาวรี ตามแนวตะวันออก - ตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ กลางเนินสูงกว่าพื้นที่รอบ ๆ ราว 8 เมตร ราษฎรชาวบ้านเชียงในปัจจุบันมีเชื้อสายลาวพวนที่อพยพเคลื่อนย้ายชุมชนมาจากแขวงเชียงขวางประเทศลาว เมื่อ 200 ปีมาแล้ว แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งที่ทำให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัตศาสตร์ ย้อนหลังไปกว่า 4,300 ปี ร่องรอยของมนุษย์ในประเทศไทยสมัยดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่มีพัฒนาการแล้วในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านความรู้ความสามารถหรือภูมิปัญญา อันเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยให้ผู้คนเหล่านั้นสามารถดำรงชีวิต และสร้างสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ได้สืบเนื่องต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนานวัฒนธรรมบ้านเชียง ได้ครอบคลุมถึงแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกกว่าร้อยแห่งเป็นบริเวณพื้นที่ที่มีมนุษย์อยู่อาศัยหนาแน่นมาตั้งแต่หลายพันปีแล้ว ด้วยเหตุนี้เององค์การยูเนสโก ของสหประชาชาติจึงได้ยอมรับขึ้นบัญชีแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียงไว้เป็นแห่งหนึ่งในบรรดามรดกโลก

อำเภอหนองแสง | เชิงธรรมชาติ

ตั้งอยู่ในบึงหนองหาน แหล่งน้ำจืดธรรมชาติขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว่า 36 ตารางกิโลเมตร อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ปลา พันธุ์นก และพืชน้ำจำนวนมาก มีระบบนิเวศโดดเด่นและเป็นที่สนใจของนักวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศได้มาศึกษาค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง ช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี ดอกบัวแดงจะเบ่งบานมากที่สุด นักท่องเที่ยวจะมองเห็นดอกบัวแดงบานเต็มผืนน้ำของหนองหานสุดลูกหูลูกตา จึงเป็นที่มาของคำว่า “ทะเลบัวแดง” หากสนใจจะชมทัศนียภาพต่าง ๆ ภายในหนองหาน เช่น พันธุ์นกหรือพืชน้ำ สามารถนั่งเรือเที่ยวชมได้ตลอดทั้งวัน ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการล่องเรือชมทะเลบัวแดง คือ ระหว่างเวลา 06.00 – 11.00 น. เพราะเป็นช่วงที่ดอกบัวแดงบาน มีเรือรับจ้างบริการพาชมทะเลบัวแดงและทัศนียภาพในหนองหาน
   โดยขึ้นที่ท่าเรือบ้านเดียม ตำบลเชียงแหว มีเรือให้บริการทุกวัน เวลา 06.00 – 17.00 น. ใช้เวลานั่งเรือชมหนองหานและทะเลบัวแดงรอบละ 1.30 ชั่วโมง
สอบถามข้อมูลได้ที่ กลุ่มเรือบริการท่องเที่ยวบ้านเดียม โทร. 08 9395 0871เครื่องอำนวยความสะดวก