อำเภอเพ็ญยุคแรกมีตำนานเล่าขานต่อกันมาว่า ประมาณปี พ.ศ. 1600 - 1700 พระยาศรีสุทโธ ได้อพยพราษฎรหลบภัยจากการรุกรานของชาวข่าและขอม ซึ่งมีอำนาจในขณะนั้นมาสมทบกับขุนวรบุตร (เมืองหนองหาน) ขุนราชปากดี (เมืองหนองคาย) และพระยาคำสิงห์ (เมืองสกลนคร) มาตั้งเมืองขึ้นบริเวณลุ่มน้ำสวย
พระยาศรีสุทโธและพระนางจันทรามีพระราชธิดาองค์หนึ่ง ทรงสิริโฉมงดงาม ชื่อ พระนางเพ็ง หรือเพ็ญ เป็นที่หมายปองของเจ้าเมืองหนองหาน เจ้าเมืองหนองบัวลำภู และ เจ้าเมืองบางหนองคาย ถึงขั้นยกกองทัพและส่งทูตมาขอสร้างความวิตกกังวลให้กับพระยาศรีสุทโธ และ พระนางเพ็ญว่า จะทำให้เกิดการรบแย่งชิงตัวพระนางเพ็ญให้เกิดการล้มตายเกิดขึ้น จึงขอเวลา 3 เดือน จากเจ้าเมืองต่างๆ ให้พระนางเพ็ญตัดสินใจ พระนางเพ็ญคิดว่าหากตกลงเลือกเจ้าเมืองใด เจ้าเมืองที่เหลือไม่ยอม สงครามย่อมเกิดขึ้น จึงกราบทูลให้พระยาศรีสุทโธสร้างเจดีย์ภายในกลวงและพระนางเพ็ญตัดสินใจเข้าบำเพ็ญภาวนา ภายในเจดีย์โดยให้ช่างโบกปูนปิดทับเมื่อเจ้าเมืองทั้งสาม ทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระนางเพ็ญ จึงพากันยกทัพกลับและเพื่อเป็นอนุสรณ์ชาวเมืองจึงตั้งชื่อเมืองว่า "เมืองเพ็ญ" ปัจจุบันมีธาตุ (เจดีย์) พระนางเพ็ญ อยู่ที่วัดเกาะแก้ว ริมลำน้ำเพ็ญ ในเขตเทศบาลตำบลเพ็ญ
อำเภอเพ็ญยุคปัจจุบัน เมืองเพ็ญได้ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2450 มีพระยาอนุชาติวุฒิคุณเป็นนายอำเภอคนแรก ตั้งแต่ ปี 2450 - 2456 และตั้งแต่ปี 2456 ถึง 10 ธันวาคม 2544 มีผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอเพ็ญรวม 35 คน ว่าที่ พันตรี วีรยุทธไวยภาษ ดำรงตำแหน่ง นายอำเภอเพ็ญ คนที่ 38 ตั้งแต่ 8 มกราคม 2550 จนถึงปัจจุบัน
คำขวัญ: กระติบข้าวใหญ่ บั้งไฟล้าน ตำนาน พระธาตุนางเพ็ญ เป็นประตูสู่อินโดจีน
ประเทศ ไทย
จังหวัด อุดรธานี
พื้นที่
• ทั้งหมด 908.089 ตร.กม. (350.615 ตร.ไมล์)
ประชากร (2565)
• ทั้งหมด 115,974 คน
• ความหนาแน่น 127.71 คน/ตร.กม. (330.8 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 41150
รหัสภูมิศาสตร์ 4119
ที่ตั้งที่ว่าการ ที่ว่าการอำเภอเพ็ญ หมู่ที่ 11 ถนนวุฒาธิคุณ ตำบลเพ็ญ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี 41150
ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอเพ็ญมีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียง ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเมืองหนองคายและอำเภอโพนพิสัย (จังหวัดหนองคาย)
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอสร้างคอมและอำเภอบ้านดุง
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอพิบูลย์รักษ์ อำเภอเมืองอุดรธานี และอำเภอบ้านผือ
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอสระใครและอำเภอเมืองหนองคาย (จังหวัดหนองคาย)
การแบ่งเขตการปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค
อำเภอเพ็ญแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 11 ตำบล 165 หมู่บ้าน ได้แก่
1. เพ็ญ (Phen) 16 หมู่บ้าน
2. บ้านธาตุ (Ban That) 20 หมู่บ้าน
3. นาพู่ (Na Phu) 17 หมู่บ้าน
4. เชียงหวาง (Chiang Wang) 21 หมู่บ้าน
5. สุมเส้า (Sum Sao) 19 หมู่บ้าน
6. นาบัว (Na Bua) 11 หมู่บ้าน
7. บ้านเหล่า (Ban Lao) 13 หมู่บ้าน
8. จอมศรี (Chom Si) 17 หมู่บ้าน
9. เตาไห (Tao Hai) 9 หมู่บ้าน
10. โคกกลาง (Khok Klang) 12 หมู่บ้าน
11. สร้างแป้น (Sang Paen) 9 หมู่บ้าน
การปกครองส่วนท้องถิ่น
ท้องที่อำเภอเพ็ญประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 12 แห่ง ได้แก่
เทศบาลตำบลเพ็ญ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลเพ็ญ
เทศบาลตำบลบ้านธาตุ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านธาตุทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลเพ็ญ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเพ็ญ (นอกเขตเทศบาลตำบลเพ็ญ)
องค์การบริหารส่วนตำบลนาพู่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาพู่ทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงหวาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเชียงหวางทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลสุมเส้า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสุมเส้าทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลนาบัว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาบัวทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเหล่า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านเหล่าทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลจอมศรี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลจอมศรีทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลเตาไห ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเตาไหทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลโคกกลาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโคกกลางทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลสร้างแป้น ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสร้างแป้นทั้งตำบล